28 มิถุนายน 2567 : ประเทศไทยได้แสดงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นในระดับโลก โดยล่าสุด จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศประจำปี 2024 (IMD World Competitiveness Ranking 2024) ประเทศไทยสามารถขยับขึ้นถึง 5 อันดับ ครองอันดับที่ 25 จากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจและเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (Digital Council of Thailand, DCT) ในฐานะองค์กรที่ร่วมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย รู้สึกยินดีที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยสามารถแซงหน้าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมถึงมาเลเซีย โดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีเรื่อง IMD World Competitiveness Ranking 2024 ในการประชุม Workshop สรุปแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วยกรรมการและสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ และนักศึกษาโครงการ DCT Future Leaders 2024 ร่วมการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ สภาดิจิทัลฯ
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถขยับอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศขึ้นสู่อันดับที่ 25 ของโลก ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมถึงสภาดิจิทัลฯ ในการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 5.0 อย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นโยบายสำคัญที่สภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมผลักดันมี 6 ด้าน 1. การลงทุนระหว่างประเทศ 2. การจ้างงาน 3. โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 4. การศึกษา 5. แนวปฏิบัติด้านการจัดการ 6. ตลาดแรงงาน
ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศประจำปี 2024 ของสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นขยับขึ้นถึง 5 อันดับ ครองอันดับที่ 25 ในระดับโลก ครองอันดับ 2 ของอาเซียน แซงมาเลเซีย และยังขยับอันดับแซงหน้าหลายประเทศชั้นนำ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยมีคู่แข่งสำคัญคืออินโดนีเซียที่ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นมาจาก 4 ด้าน ซึ่งสภาดิจิทัลฯ มีส่วนร่วมในการพัฒนา ได้แก่ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ซึ่งสภาดิจิทัลฯ มีส่วนผลักดันในด้านการลงทุนระหว่างประเทศ โดยผลักดันเรื่องมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ตอัป (Capital Gains Tax) การร่วมลงทุนจากภาครัฐ (Matching Fund) กิจกรรมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ (Investor Road Show) เป็นต้น 2. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) สภาดิจิทัลฯ ร่วมผลักดันแนวปฏิบัติด้านการจัดการ เช่น โครงการ DCT Startup Connect และบริการช่วยเหลือสตาร์ตอัป (Startup Clinic) เป็นต้น 3. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และ 4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สภาดิจิทัลฯ ร่วมผลักดันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Upskill/Reskill) การร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) การประยุกต์ใช้ 5G (5G Use Case) ศูนย์นวัตกรรม (Center of Excellence) การร่วมลงทุนจากภาครัฐ (Matching Fund) และ ความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) ด้านการศึกษา เช่น การสนับสนุนโครงการ Thailand Plus Package รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดหาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป 1.6 ล้านเครื่องสำหรับนักเรียน เป็นต้น
ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับ ภาคเอกชน ภาครัฐ และ ภาคประชาชน เพื่อพัฒนาธุรกิจดิจิทัล ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ระดับสากล โดยตระหนักดีว่าการส่งเสริมนโยบายภาครัฐ ตลอดจนการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยซึ่งได้มีการดำเนินการผ่านพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ มาโดยตลอด
“งานเวิร์กช็อปครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิด (Brainstorm) แนวทางพลิกโฉมไทย สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล เป้าหมายคือ นำเสนอแนวทางต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าหมายร่วมกัน และขับเคลื่อนพันธกิจของคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ชุดที่ 3 อย่างเป็นรูปธรรม” ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว
จากการเวิร์กช็อปภายใต้พันธกิจและคณะทำงานของสภาดิจิทัลฯ ผู้ประกอบการ นักลงทุน และสตาร์ตอัป ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน 5 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย สู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล 5 ด้าน คือ 1. ด้านกำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) 2. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 3. ด้านการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค (Regional Innovation Hub) 4. ด้านดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (Digital Sustainability) และ 5. ด้านวัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture)
ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกด้าน จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนมาตรฐานและตัวชี้วัดดิจิทัล (Digital Index and Standard) ในระดับประเทศที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับ นโยบายสาธารณะและการสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Policy & Public Private People Partnership) ในการผลักดันนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ทั้งนี้ อนาคตของประเทศไทยบนเวทีเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลกเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสำเร็จ