ทศวรรษแห่งตลาดเกิดใหม่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง! Morgan Stanley เชื่อว่าจะได้เห็นในครึ่งปีหลังนี้

ภาวะการปรับตัวขึ้นของบรรดาตลาดเกิดใหม่ (EM) ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าการฟื้นตัวของจีนหลังการเปิดประเทศจะไม่เป็นไปตามที่ตลาดต้องการ และการพิสูจน์ให้เห็นว่ามุมมองบวกในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปีนั้นผิดพลาดก็ตาม

สินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวเร็วที่สุดในช่วงครึ่งปีหลัง ตราบใดที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ทางการจีนยังสนับสนุนการเติบโต และการปฏิรูปโครงสร้างในอินเดียซึ่งหนุนความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่ทศวรรษแห่งตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Morgan Stanley คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี

ซาเวียร์ บาราตัน CIO ของ HSBC Asset Management กล่าวว่า ประเทศอย่างอินเดีย บราซิล และจีน ต่างไม่มีปัญหาเงินเฟ้ออีกต่อไป ดังนั้นจึงสามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หากใครกำลังมองหาการกระจายการลงทุนที่แท้จริง ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย อาทิ อินเดีย ถือเป็นจุดหมายที่น่าจับตามอง อีกทั้งผู้คนยังไม่ได้สนใจมากนัก

แม้ว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2023 จะไม่ใช่เวลาร้ายแรงสำหรับนักลงทุนตลาดเกิดใหม่ แต่ผลตอบแทนก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

ดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่ของ MSCI เพิ่มขึ้นประมาณ 5% ในปีนี้ โดยตามหลังดัชนีหุ้นประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 11% ขณะที่ดัชนีสกุลเงิน EM ขยับขึ้นเกือบ 2% พันธบัตรสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้ทั่วโลกโดยเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดประเทศของจีนที่หลายฝ่ายคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขับเคลื่อนได้เหมือนเดิมอีกครั้ง แต่ตัวเลขสินเชื่อที่อ่อนแอ การส่งออกที่หดตัว และยอดขายที่อยู่อาศัยชะลอตัว ทำให้เหตุการณ์ที่คาดว่าจะดีกลับกลายเป็นร้ายแทน ซึ่งผลกระทบได้แพร่ระบาดไปยังตลาดอื่นๆ ที่พึ่งพาอุปสงค์ของจีน เช่น แอฟริกาใต้และไทย

นั่นจึงทำให้เกิดข้อสงสัยถึงมุมมองเชิงบวกของ Morgan Stanley ที่มีต่อตลาดเกิดใหม่ซึ่งระบุเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า หุ้นในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชนะในทศวรรษนี้ จากมูลค่าตลาดที่น่าสนใจและแนวโน้มการเติบโตที่เหนือกว่า ตัวอย่างประเทศ อาทิ อินเดีย

อ้างอิง:

ที่มา  THE STANDARD WEALTH