กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวันแนวโน้มปี 2567 พบว่า คนหันมากินข้าวนอกบ้าน-พร้อมใช้จ่ายมากขึ้น แม้ปี 66 ผู้บริโภคจะเน้นมองหาสินค้าลดราคร-มีตำหนิ โดยธุรกิจไทยที่มีโอกาสเติบโต คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องสำอาง
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยเทรนด์และโอกาสในการทำธุรกิจในไต้หวันปี 2567 พบว่า แนวโน้มพฤติกรรม การบริโภคของชาวไต้หวันในปีนี้จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และเมื่อรู้สึกชินชากับภาวะเงินเฟ้อ จนทำให้เกิดการบริโภคในแบบไม่คิดอะไรมากทำใหัยอมจับจ่ายเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไต้หวันยังมีการใช้จ่ายเพื่อการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ออกกำลังกายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าพฤติกรรมการบริโภคในลักษณะนี้ จะยังคงต่อเนื่องไปในปี 2567 (ข้อมูลจาก iSURVEY บริษัทด้านการสำรวจตลาดของไต้หวัน เมื่อ 13 ธ.ค. 2566)
ทั้งนี้ ในปี 2567 พบว่า ผู้บริโภคชาวไต้หวัน มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพื่อความงามของตัวเองมากขึ้นและสูงกว่าปี 2566 ที่มีการใช้จ่านเครื่องสำอางโดยเฉลี่ย 1,145 บาทต่อเดือน (เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในปี 65 ที่มีมูลค่า 1,096 บาทต่อเดือน) สาเหตุเพราะหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเวลาประมาณ 3 ปี ในปีนี้ผู้บริโภคได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในการพบปะสังสรรค์มากขึ้น จนแทบไม่มีการรักษาระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อความงดงามส่วนบุคคลกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะมีการออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการแคมป์ปิง
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคขอฃไต้หวันในปี 2566 พบว่า ผู้บริโภคมีการค้นหาสินค้าใกล้หมดอายุ และสินค้ามีตำหนิเพิ่มมากขึ้น โดย 73% ของผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าใกล้หมดอายุที่มีการลดราคาในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ก่อนการเลือกซื้อสินค้าปกติ และมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ยินดีเปลี่ยนแบรนด์ที่เคยซื้อประจำ หากสามารถค้นพบสินค้าที่ทดแทนได้ในราคาที่ถูกกว่า ดังนั้นเมื่อ Brand Loyalty อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคชาวไต้หวัน ขณะเดียวกันหากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและหันไปซื้อสินค้าอื่นที่คิดว่าทดแทนกันได้
ดังนั้น จากแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคไต้หวัน ถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพในตลาดไต้หวันซึ่งคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ทั้งในส่วนของสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยสินค้า แบรนด์ไทยในไต้หวันกำลังเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไต้หวันมากขึ้น โดยมีแบรนด์ไทยเข้ามาวางจำหน่ายทาง Modern Trade ในไต้หวันประเภทร้าน Chain Store ยาและเครื่องสำอาง เช่น POYA, Cosmed, Watsons เป็นต้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไต้หวัน โดยมีแบรนด์ เช่นร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน ทั้งในส่วนที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของไต้หวัน เช่น Thai Town, Siam More, หรือ A Do รวมไปจนถึง Chain ร้านอาหารจากไทย เช่น Nara, ส้มตำเด้อ, บ้านผัดไทย เป็นต้น
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ / Brand Inside