หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษทดลองใช้โดรนเพื่อส่งยาสำหรับการทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งไปเกาะนอกชายฝั่งหวังเพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างน้ำ ไฟฟ้า ถนน และระบบขนส่งอื่น ๆ ที่ดี แต่ก็ยังคงมีหลายพื้นที่นั้นอยู่ห่างไกลจากเกาะหลัก ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ในพื้นที่นอกชายฝั่งมีราคาสูง ไม่เว้นแม้แต่ยาและระบบสาธารณสุข ส่งผลให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) ของอังกฤษต้องหาทางลดต้นทุนการขนส่งยาในพื้นที่ดังกล่าว โดยล่าสุดได้จับมือกับภาคเอกชนในการใช้โดรนเพื่อส่งยาเคมีบำบัดไปยังเกาะนอกชายฝั่งทางใต้ของอังกฤษแล้ว
ไอล์ออฟไวต์ (Isle of Wight) เป็นชื่อของเขตปกครองตนเองและเกาะที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในบริเวณช่องแคบอังกฤษใต้เมืองพอร์ตสมัท (Portsmouth) เป็นดินแดนแห่งบ้านพักตากอากาศของประเทศตั้งแต่ยุควิกตอเรีย ซึ่งเกาะแห่งนี้มีประชากรทั้งหมดประมาณ 150,000 คน ประสบปัญหาเรื่องของบริการสาธารณสุขในพื้นที่นั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าพื้นที่เกาะบริเตนจากเส้นทางการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายข้ามเกาะสูง โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด (Chemoterapy) ที่ต้องมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
NHS ได้ตัดสินใจทดสอบการนำโดรนมาใช้ขนส่งยาที่ใช้ในกระบวนการเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยจับมือร่วมกับเอเปียน (Apian) บริษัทสตาร์ตอัปด้านการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ด้วยโดรน ซึ่งทีมผู้ก่อตั้งเองก็เป็นอดีตนายแพทย์ของ NHS ที่มองเห็นปัญหานี้เช่นกัน
โดรนที่เอเปียน (Apian) ใช้งานนั้นเป็นโดรนแบบขึ้นลงทางดิ่งพลังงานไฟฟ้า (Electrical Vertical Take-Off and Landing: eVTOL) หลากหลายรุ่น ซึ่งจะเป็นโดรนแบบปีกตรึงพร้อมโรเตอร์ (Roter) ใบพัด 4 ตัว สำหรับการขึ้นลงทางดิ่ง และมอเตอร์เดี่ยวสำหรับทำการบิน รองรับการเดินทางเป็นเวลา 90 นาที ต่อรอบการชาร์จด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถบรรทุกสิ่งของเช่น ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นได้สูงสุดไม่เกิน 25 กิโลกรัม
NHS เป็นอีกองค์กรของสหราชอาณาจักรที่หันมาใช้บริการขนส่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้รอยัลเมล (Royal Mail) บริษัทไปรษณีย์อังกฤษก็เลือกใช้โดรนขนส่งเพื่อให้ประชากรในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการในราคาที่เข้าถึงได้เช่นกัน โดยโครงการขนส่งยาคีโมด้วยโดรนถือได้ว่าเป็นโครงการแรกของสหราชอาณาจักรและของโลก
อแมนด้า พริตชาร์ด (Amanda Pritchard) หัวหน้าผู้บริหารของ NHS เชื่อว่าโครงการนี้เป็นก้าวสำคัญเพื่อให้ผู้คนทั่วสหราชอาณาจักรเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่รวดเร็วตามพันธกิจของ NHS ที่ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ ฉลองการก่อตั้งระบบครบรอบ 74 ปี ในปี 2022 นี้อีกด้วย โดยโครงการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่ไอล์ออฟไวต์ (Isle of Wight) เข้าถึงบริการอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในอีก 3 ปี ข้างหน้า จะมีผู้ป่วยกว่า 5,000 คน ได้รับผลประโยชน์อย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล Engadget
ที่มารูปภาพ Apian