ภัยแล้ง ที่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นทั่วทั้งซีกโลกเหนือ ครอบคลุมตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน กำลังซ้ำเติมปัญหาต่อห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น รวมทั้งสร้างแรงกดดันต่อระบบการค้าโลก ซึ่งปัจจุบันก็กำลังตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดอยู่แล้ว
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศหลายคนกล่าวว่า ภาวะฝนทิ้งช่วง (Dry Spell) ในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลานีญา ซึ่งทำให้บางส่วนของยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย มีฝนตกน้อยลง ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า ความแห้งแล้วทั่วโลกเพิ่มขึ้น 29% ตั้งแต่ปี 2000 เนื่องจากความเสื่อมโทรมของที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภัยแล้งในปีนี้กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตไฟฟ้า เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยว สำหรับประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางประเทศ นับเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ เช่น ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดใหญ่ รวมถึงแรงกดดันต่อราคาพลังงานและราคาอาหารจากสงครามในยูเครน
ตามรายงานของศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติจีน (National Climate Center) ระบุว่า บางส่วนของประเทศจีนกำลังประสบกับคลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อปี 1961 และนำไปสู่การปิดโรงงาน เนื่องจากการขาดแคลนพลังงานน้ำ
นอกจากนี้ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอิตาลี ก็กำลังจะกลายเป็นภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปี ตามการระบุของ แอนเดรีย โทเรติ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก Joint Research Center ของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)
ขณะที่ภัยแล้งในแถบอเมริกาตะวันตกซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ทศวรรษก่อน ปัจจุบันก็ดูเหมือนจะเลวร้ายที่สุดในรอบ 1,200 ปี จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA)
นักพยากรณ์ด้านการเกษตรคาดว่าเกษตรกรในสหรัฐฯ จะสูญเสียพืชผลฝ้ายมากกว่า 40% ขณะที่ในยุโรป การเก็บเกี่ยวน้ำมันมะกอกของสเปนคาดว่าจะลดลงมากถึง 1 ใน 3 ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง
นอกจากนี้แม่น้ำหลายสายในยุโรป เช่น แม่น้ำไรน์ และแม่น้ำโปของอิตาลี ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดทางการค้า กำลังมีระดับน้ำต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องลดการขนส่งลง
ระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลงยังทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดลงทั่วทั้งทวีปยุโรป เป็นปัญหาซ้ำเติมปัญหาพลังงานที่มีอยู่เดิม หลังจากรัสเซียประกาศหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream หลายต่อหลายครั้ง เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตก โดยปัญหาความร้อนยังทำให้ฝรั่งเศสลดการผลิตพลังงานในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายเครื่อง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำที่ใช้ทำให้เครื่องปฏิกรณ์เย็นลงนั้นอุ่นเกินไป
ในภาคกลางและทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทางการได้ประกาศภัยแล้งระดับมณฑล 6 พื้นที่ คิดเป็น 1 ใน 4 ของผลผลิตธัญพืชของจีนในปีที่แล้ว
โดยมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง เนื่องจากต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมาก โดยอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น เสี่ยงเผชิญปัญหากริดไฟฟ้าโอเวอร์โหลด
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 สิงหาคม) ทางการท้องถิ่นจีนได้ออกมาตรการตอบสนองฉุกเฉินต่อวิกฤตด้านพลังงาน โดยขยายคำสั่งให้โรงงานหลายแห่งหยุดหรือลดการผลิตต่อจากสัปดาห์ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้อยู่อาศัยจะมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอจนถึงวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิจะลดลงอีกครั้ง
ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตระดับโลกจำนวนหนึ่ง เช่น Foxconn Technology, ผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ Apple, Volkswagen AG และ Toyota Motor รวมถึงผู้ผลิตเกลือลิเธียม ปุ๋ย และอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ที่ฐานการผลิตอยู่ในมณฑลเสฉวน ขณะที่ Tesla Inc. บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ ก็ได้ขอให้รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ให้ความมั่นใจว่าซัพพลายเออร์ของบริษัทจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ โดยระบุว่า ซัพพลายเออร์ 16 รายจากทั้งหมด ไม่สามารถผลิตได้เต็มประสิทธิภาพตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว
นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศในอเมริกาและยุโรปหลายคนกล่าวว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญารุนแรงขึ้น โดย อิสลา ซิมป์สัน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโล กล่าวว่า บรรยากาศที่อุ่นขึ้นจะดูดความชื้นจากพื้นดินมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง
โดยตามคำแนะนำล่าสุด ซึ่งออกโดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) ระบุว่า ลานีญามักอยู่นาน 9-12 เดือน แต่ลานีญาปัจจุบันอยู่นาน 2 ปีแล้ว และคาดว่าจะคงอยู่จนถึงอย่างน้อยเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023
นอกจากนี้ตามรายงานของ Moody’s Investors Service ระบุว่า ผลกระทบของภัยแล้งและคลื่นความร้อนที่ยืดเยื้อต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การผลิต และการเกษตร อาจกลายเป็นแรงฉุดต่ออันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทั่วยุโรปตอนใต้ด้วย ขณะที่รายงานวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของ UN ฉบับล่าสุด ระบุว่า ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มความเสี่ยงต่อภัยแล้งทั่วภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน
อ้างอิง:
ที่มา THE STANDARD WEALTH