ไม่บ่อยนักที่เราได้เห็นการจัดงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ที่ไม่มีการใช้ภาชนะพลาสติกแบบ Single-Use แต่เปลี่ยนเป็นภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่มีการจัดดอกไม้ประดับงาน อาหารว่างภายในงานก็เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์จาก Vegan รวมถึงการเลือกสถานที่จัดงานที่สามารถเดินทางได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก แต่ภาพของงาน EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth กลับเลือกทำทั้งหมดที่กล่าวมา เพื่อให้งานนี้เป็น Carbon Neutral Event อย่างแท้จริง ซึ่งไม่เพียงสร้างความประทับใจให้ผู้เข้าร่วมงาน แต่ยังสะท้อนว่าผู้จัดงานอย่างธนาคารกสิกรไทย กำลังมองเห็นบางสิ่งบางอย่าง และนั่นอาจเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจถามหา หรือก็คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืนในโลกอนาคต”
ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อวิกฤติโรคระบาดผ่านพ้นไป สิ่งที่ทุกธุรกิจถามหาก็คือ โอกาสครั้งใหม่ของตนเองนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ซึ่งประเด็นที่งานสัมมนา EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth จัดขึ้น ถือว่าได้โยนโจทย์ที่ท้าทายมาก ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมงานว่า “โลกที่ยั่งยืน” อาจเป็นคำตอบสำหรับทุกธุรกิจในเวลานี้ โดยหากย้อนมองภาพของโลกในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความท้าทายใหม่ที่กำลังรอให้มนุษย์เข้ามาร่วมกันแก้ไขก็คือเรื่อง Climate Change หรือก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังส่งผลกระทบต่อมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อน หรือเย็นจนผิดปกติ ภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม การขาดแคลนอาหาร คุณภาพอากาศที่แย่ลงจากการใช้ยานพาหนะในการเดินทาง ภาคอุตสาหกรรม หรือการทำเกษตรกรรม ฯลฯ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แน่นอนว่าในการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Climate Change ก็คือ 4P อันประกอบด้วย
1.Planet
2.Prosperity
3.People
4.Peace
“ความท้าทายที่กระทบต่อ 4P คือการที่โลก (Planet) ร้อนขึ้น อากาศแปรปรวนอย่างหนัก และโลกยังถูกทำลายจากการไม่คัดแยกขยะที่ถูกต้อง ต่อมาคือเรื่องของ Prosperity หรือช่องว่างระหว่างความมั่งคั่ง และความยากจนที่มากขึ้นทุกที เรามีคนไทยมากถึง 33 ล้านคนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดือดร้อนอย่างมากทั้งในด้านรายได้และการอยู่อาศัย”
“ไม่เพียงเท่านั้น จากวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีภาระหนี้สินมากขึ้น ซึ่งการพยายามชำระหนี้ ก็ทำให้ประเทศต่าง ๆ ลดงบประมาณด้านการศึกษา – สังคมลงเช่นกัน ส่งผลให้การพัฒนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
อีกสองประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของ People ซึ่งเมื่อมองย้อนไปที่ประเทศไทย ดร.ประสารเผยว่า สังคมไทยจะเข้าสู่ Aging society ในปี 2030 โดยที่ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ขณะที่ลูกหลานก็มีครอบครัวเล็กลง และมีภาระมากเกินไป ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอ เกิดภาวะครอบครัวแหว่ง คือพ่อแม่ไปทำงาน ต้องทิ้งลูกให้ปู่ย่าตายายดูแล เกิดปัญหาคุณภาพการเลี้ยงดู กระทบการพัฒนาประเทศในระยะยาว
“ประเด็นสุดท้ายคือ Peace เมื่อความขัดแย้งของโลกสองขั้วที่ชัดเจนขึ้น ประเทศไทยอยู่ในข่ายที่ถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจได้ขยายไปทั่วทุกประเทศในทวีปนี้แล้ว ซึ่งความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และเมียนมาร์ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ”
อย่างไรก็ดี ดร.ประสาร อธิบายว่า ภายใต้ภาพที่น่ากลัวนี้ ในอีกด้าน ก็มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน นั่นคือ การที่ภาคธุรกิจมีแรงจูงใจในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น
กรณีศึกษา “ญี่ปุ่น – ฟินแลนด์ – เดนมาร์ก – ไทย”
สิ่งที่ ดร.ประสาร ได้หยิบยกขึ้นมาจุดประกายบนเวทีสัมมนา คือแนวคิดของประเทศฟินแลนด์ ที่ส่งออกโซลูชันด้าน Circular Economy ไปทั่วโลก โดยเริ่มจากการใช้เงินทุนจากภาครัฐในการพัฒนา และผลักดันให้สหภาพยุโรปใช้ Circular Economy ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนจะขยายไอเดียนี้ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ผ่านเวทีอย่าง World Circular Economy Forum เป็นต้น
หรือในกรณีของประเทศไทย ดร.ประสารได้ยกตัวอย่างแอปพลิเคชัน Yindii (ยินดี) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่จับมือกับร้านอาหาร – โรงแรม ต่าง ๆ นำสินค้าอาหารที่ยังคงมีคุณภาพดี แต่ขายไม่หมด มาวางจำหน่ายในแอปพลิเคชันในราคาประหยัด พร้อมเปรียบเทียบกับประเทศเดนมาร์กที่มีแอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกัน และปัจจุบัน แอปพลิเคชันของเดนมาร์กสามารถขยายไปทำตลาดในประเทศอื่น ๆ ได้แล้วถึง 17 ประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ตลาดดังกล่าวมีศักยภาพ และสามารถสร้างการเติบโตให้กับผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน
นอกจากสินค้าอาหารที่สามารถจัดการได้แล้ว สินค้ามือสองก็ถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเช่นกัน โดย ดร.ประสารได้ยกกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการแยกขยะอย่างเข้มงวด รวมถึงสามารถสร้างเป็นธุรกิจใหม่อย่าง “นักเคลียร์ขยะ” ที่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวมากกว่า หนึ่งแสนแห่ง และของบางส่วนยังถูกคัดไปจำหน่ายเป็นสินค้ามือสอง และสามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำอีกด้วย โดยข้อมูลจาก Reuse business journal เปิดเผยว่า ในปี 2564 ตลาดสินค้ามือสองของญี่ปุ่นมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านเยน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านล้านเยนในปี 2568 เลยทีเดียว
ขณะที่ภาพของประเทศไทย คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยในเวทีสัมมนาว่า มีความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรมเกิดขึ้นมากมาย และความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ส่งกลับมาเป็นรายได้ของเกษตรกรที่จับต้องได้แล้วด้วย
“วันนี้ภาคเกษตรกรรม เราเริ่มเปลี่ยนวิถีการทำนากันแล้ว ด้วยการสูบน้ำออกจากนาทั้งหมดตอนที่ข้าวกำลังตั้งท้อง ซึ่งข้าวไม่ตาย และยังสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 20 – 30% (จาก 700 กิโลกรัมเป็น 900 กิโลกรัมต่อไร่) การปรับเปลี่ยนนี้ช่วยลดปริมาณน้ำ และพลังงานที่ใช้ในการสูบน้ำเข้าที่นาให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขาย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนอีกทางหนึ่ง”
เอเชีย VS การ Go Green ของ “สิงคโปร์”
บนเวที EARTHJUMP 2023 ยังได้เชิญ ดร.Darian McBain อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของ The Monetary Authority of Singapore และผู้ก่อตั้ง OCSO Asia มาบอกเล่าถึงภาพรวมของภูมิภาคเอเชีย และกรณีศึกษาของประเทศสิงคโปร์ โดยเธอมองว่า สิงคโปร์เริ่มจากการให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่มผู้ขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ รัฐบาล, ธุรกิจ และประชาชนแล้วจึงออกแบบแผนที่ให้ความสำคัญกับทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นตัวเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ การสร้างความตระหนักให้ชาวสิงคโปร์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และประหยัดพลังงาน การกระตุ้นให้ชาวสิงคโปร์หันมาใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การสร้างงานใหม่ ๆ ในธุรกิจสีเขียวเพื่อให้ชาวสิงคโปร์มองเห็นโอกาสในการเติบโตแบบยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
อย่างไรก็ดี ความท้าทายของแผนดังกล่าวก็คือ ต้องมีการเก็บข้อมูลมากขึ้น เพื่อแสดงต่อหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่าง ๆ หรือแม้แต่เก็บไว้ใช้ติดตามความคืบหน้าของประเทศตนเอง แต่ข้อดีที่เธอพบก็คือ ปัจจุบัน การพัฒนาระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลด้าน ESG ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นเช่นกัน โดยเธอได้ยกตัวอย่างในอดีตที่เธอต้องเก็บข้อมูลและบันทึกลงในโปรแกรมสเปรดชีท แต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีแอปพลิเคชันมากมายเข้ามาช่วย Track ข้อมูลในองค์กรต่าง ๆ แล้ว
ดร.Darian ยังได้ยกตัวอย่างการก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศสิงคโปร์ด้วยการทำงานร่วมกันกับภาคการศึกษา และกลุ่มฟินเทค ซึ่งเธอมองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากมีสถานศึกษามากมายที่มีศักยภาพในการเข้ามาช่วยกำหนดมาตรฐาน หรือพัฒนาระบบได้
เงินลงทุนสู่โลกยั่งยืน ความท้าทายของภาคธุรกิจ
นอกจากการริเริ่มที่เป็นรูปธรรมของสิงคโปร์แล้ว สิ่งที่ ดร.Darian ให้ความสำคัญอีกข้อหนึ่งคือเรื่องของ เงินลงทุน เมื่อมีการศึกษาพบว่า เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ (ในช่วงปี 2020 – 2030) พร้อมยกตัวอย่างความต้องการของธุรกิจพลังงานที่ต้องการเม็ดเงินมากถึง 10,815,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือโลจิสติกส์ที่ต้องการ 8,154,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวอาจไม่ใช่ปัญหา หากแต่เป็นโอกาสของธุรกิจที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมได้ โดยคุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้สะท้อนภาพของกลุ่ม Venture Capital ที่ให้ความสนใจกับกลุ่ม Climate Tech เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเงินลงทุนในปี 2022 ที่มากถึง 70,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 89% (ปี 2021 มีเงินลงทุน 30,700 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนในไตรมาส 1 ของปีนี้ การลงทุนใน Climate Tech ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีการให้เงินลงทุนไปมากถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งคุณขัตติยาย้ำว่า ทิศทางการเติบโตดังกล่าวยังอาจหมายถึงการเกิดขึ้นของ Decacorn(สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่ายูนิคอร์น) ได้อีก 200 – 300 รายในอนาคตอีกด้วย
8 กุญแจสำคัญ ก้าวสู่ Green Business
แน่นอนว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตามลำพัง ในฐานะผู้จัดงาน EARTHJUMP 2023 และผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย คุณขัตติยาได้ทิ้งท้ายบนเวทีนี้ว่า จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องจับมือกัน ทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Green Business นี้ให้เกิดขึ้น โดยมี 8 หัวใจหลัก ได้แก่
-Lead with Game-Changing Ambition
-Secure a Cost Advantage
-Sign Up Captive Demand Before Scaling
-Build Capacity with Parallel Scaling
-Proactively Create Business Ecosystem
-Lead on Sustainable Operations
-Dedicate Recruiting Resources Early
-Low-Cost Financing
แต่แน่นอนว่า เส้นทางดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในเรื่องการจัดสรรเงินลงทุน ที่คุณขัตติยาเผยว่า เงินลงทุนมากถึง 75% ยังกระจุกตัวอยู่ในอเมริกาเหนือ, จีน และยุโรปตะวันตกเป็นหลัก และการใช้เงินลงทุนเหล่านั้นก็กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเดียวกันด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของนักลงทุนให้สามารถก้าวไปสู่ Green Business ได้
“ในฐานะธนาคาร เรามี License อยู่ 2 อย่าง นั่นคือ Banking License หรือก็คือการให้บริการทางการเงินกับลูกค้า เพื่อให้เขาได้เติบโต และ Social License ซึ่งเป็นไลเซนต์ที่ทำให้เรามีสิทธิอยู่ในคอมมูนิตี้นี้ได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้ เรามีอีกหนึ่ง License เพิ่มขึ้นมา นั่นคือ License to Grow ซึ่งถ้าเราทำได้ เราจะเติบโตไปพร้อมกันกับลูกค้า และเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Business ร่วมกัน” คุณขัตติยากล่าวปิดท้าย
ที่มา brandbuffet