นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “มองต่างมุมเศรษฐกิจไทย ปี 2566” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีโอกาสจะขยายตัวได้ 3.8% โดยมองว่า 2 ส่วนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปีนี้ คือภาคการท่องเที่ยว และการลงทุน
โดยในภาคการท่องเที่ยว ได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งมีโอกาสจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปีนี้ขึ้นไปแตะที่ 30 ล้านคนได้ และจากที่การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจ้างงานที่มากขึ้นด้วย
นายสนั่น มองว่า กำลังซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ก็จะเป็นอีกแรงที่ช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยมองว่าปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นนั้น คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2 ได้ราว 7-8 หมื่นล้านบาท ประกอบกับเม็ดเงินในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาอีก 4-5 หมื่นล้านบาท และยังไม่รวมโครงการช้อปดีมีคืนราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ถึง 3.8%
“ปีนี้เรามองว่า GDP จะโตได้ 3.8% ดีกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค. ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน ก็ไม่ผันผวนมากเหมือนปีก่อน โดยถ้าอยู่ในช่วง 33 บาท +/- ภาคเอกชนคิดว่าจะบริหารง่าย จึงฟันธงได้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะดีกว่าปีก่อนแน่นอน” นายสนั่น ระบุ
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมีข้อเสนอแนะฝากไปถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1. ต้องการให้รัฐบาลผลักดันการจัดตั้ง กรอ.ด้านพลังงาน ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งภาคเอกชนมองว่าต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เป็นต้นทุนสำคัญอย่างมากต่อการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ 2. จัดหาแรงงานให้เพียงพอและทันต่อเศรษฐกิจที่กำลังจะเติบโต ส่วนเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำนั้น อยากให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าจ้างก็เป็นไปตามกลไกและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว และ 3. ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ SME ทั้งในส่วนของการดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับภาวะวิกฤติเข้ามาพร้อมกันหลายด้าน เช่น การระบาดของโควิด-19, ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน, สภาพคล่องในตลาดที่ลดลง และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจจากมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่า ไทยจะเป็น 1 ในประเทศที่เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้ดีกว่าปี 2565 ซึ่งจะเห็นได้จากเงินทุนที่เคยไหลออกไปเมื่อ 2 ปีก่อน เริ่มไหลกลับเข้ามาในปี 65 ราว 6,000 ล้านดอลลาร์ และในปีนี้เพียงเดือนม.ค.เดือนเดียว ก็มีเงินไหลทุนเข้ามาแล้วถึง 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทที่เคยอ่อนค่าไปมากถึง 38 บาท/ดอลลาร์ เริ่มกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี นอกจากค่าเงินบาทที่ถือได้ว่ามี stable แล้วเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ แล้ว ดัชนี SET ก็ยังมีความมั่นคง และตกลงไปน้อยกว่าดัชนีของประเทศอื่นๆ โดยอัตราผลตอบแทนของดัชนี SET ในปีที่ผ่านมา ติด top ten เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ในปีก่อนตลาดโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก
นายภากร กล่าวว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร, การท่องเที่ยว, การลงทุนที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจใหม่ จะเป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศไทยในปีนี้ที่นักลงทุนต่างชาติจะมองเห็น ทั้งนี้ ตลท.ได้มีการสนับสนุนตลาดทุนไทย ด้วยการทำให้ภาคธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัพ หรือ SME มีโอกาสเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดย ตลท.เริ่มมีกระดานเทรดใหม่ในการระดมทุน โดยให้ SME เข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น LiVE Exchange เป็นต้น
“สิ่งที่อยากให้นักลงทุนพิจารณาในปีนี้ คือ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเป็นความเสี่ยงที่ลดลง ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามข่าวสารต่างๆ อยู่เสมอ และผลกระทบต่างๆ ของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรม และผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกัน” นายภากร ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์