หอการค้าไทย จับมือ 22 บิ๊กเอกชน สานต่อโครงการ Big Brother ช่วยเอสเอ็มอี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้เป้าหมาย 2 ประการคือ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 2 การลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปลดล็อคประเด็นเครดิตบูโร ตลอดจนมีข้อเสนอเพื่อให้ภาครัฐลดกฎระเบียบ ที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก โดยร่วมกับธนาคารออมสิน จัดโครงการสินเชื่อสำหรับสมาชิกหอการค้า วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยังได้ร่วมกับ สสว. ในการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการด้วยการจัดทำ Big Data เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

“ต้องยอมรับว่าภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เรากำลังเผชิญกับความท้าทายและความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และหากโอกาสใหม่ ๆ นำเอา Digital Transformations มาใช้ในการต่อยอดและขับเคลื่อนธุรกิจ” นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้ โครงการ Big Brother เป็นหนึ่งในโครงการของหอการค้าไทยที่เราให้ความสำคัญ แนวทางการช่วยเหลือแบบพี่ช่วยน้อง มีบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำการดำเนินกิจการกับบริษัทน้อง ซึ่งเราพิสูจน์มาแล้วกว่า 5 Season ว่าสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้ธุรกิจของบริษัทน้องเลี้ยง สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง โดยหอการค้าไทย พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ Big Brother ร่วมกับหน่วยงานพี่เลี้ยงอีก 22 หน่วยงาน อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การทำงานในลักษณะ Connect the Dots เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตอย่างยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกบริษัทต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าบริษัทเล็ก หรือบริษัทใหญ่ ต่างก็ได้รับผลกระทบการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับสถานะการณ์ด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนการเติบโตของธุรกิจให้ได้มากที่สุด

สำหรับผลสำเร็จของโครงการ Big Brother Season 5 ที่ได้รวบรวมโดย ศูนย์ SME มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากบริษัทน้องเลี้ยง ทั้งหมด 36 บริษัท ที่เข้าร่วมกิจกรรมการให้คำปรึกษาภายใต้โครงการฯ พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs 35 ราย (ร้อยละ 97.22) ได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากโครงการ ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านรายได้ที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าของรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นด้านที่มีสัดส่วนของผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด จำนวน 20 ราย (คิดเป็นร้อยละ 57.14) รวมไปถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าใช้จ่ายสินค้าคงคลัง ของเสียจาการผลิตลดลง เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลลัพธ์การจัดโครงการนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เมื่อนำผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจาก 35 ราย มาประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 363.57 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและระยะเวลาของโครงการที่ค่อนข้างสั้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังมีแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และแผนงานสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้

“หากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Big Brother Season 5 มีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 19.13 ซึ่งเป็นอัตราสูงกว่าอัตราการเติบโตของ MSME โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้คาดการณ์การเติบโตของตัวเลข GDP ของ MSME ในปี 2564 ไว้ว่าจะเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 1.4-2.7” นายพลิษศร์ กล่าว

นายชลวิทย์ สุขอุดม ผู้จัดการโครงการ Big Brother หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้ร่วมกับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่และสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 22 องค์กร ดำเนินโครงการ Big Brother มาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผู้ประกอบการขนาดย่อมไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลาง และพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น นำไปสู่การจ้างงานและการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มทักษะองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ ตลอดจนสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และเชื่อมโยงในการดำเนินธุรกิจระหว่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นการโค้ชเพื่อให้ SMEs พัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของบริษัทชั้นนำ

โดยวันนี้เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย และเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ให้เกิดความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม หอการค้าไทยร่วมกับหน่วยงานพี่เลี้ยงทั้ง 22 หน่วยงาน จึงได้จัดพิธีบันทึกความร่วมมือโครงการ Big Brother ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทพี่เลี้ยงทุกบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการพัฒนาบริษัทน้องที่เข้าร่วมโครงการของตน ให้พัฒนายิ่งขึ้นได้อย่างเต็มความสามารถ

ทั้งนี้ ขอเชิญสมาชิกผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่านมาร่วมหาโอกาสใหม่ บนความเป็นไปได้ของธุรกิจ ภายใต้รูปแบบ “พี่ช่วยน้อง” บริษัทชั้นนำของประเทศมาเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจให้ท่านอย่างใกล้ชิด หอการค้าไทยเปิดรับสมัคร โครงการ Big Brother Season 6 แล้วตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2565 (รับจำนวนจำกัด) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaichamber.org และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งสมาชิก Tel. 02-018-6888 ต่อ 3630 หรือ 086-1044039

ทั้งนี้ รายชื่อบริษัท ที่เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยง (22 องค์กร) ได้แก่
1 บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
2 กลุ่มมิตรผล
3 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ( มหาชน)
4 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
5 บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
6 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
7 กลุ่มเซ็นทรัล
8 บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
9 บริษัท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จำกัด
10 บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)
11 กลุ่มธุรกิจ TCP
12 บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
13 บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด
14 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
15 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
16 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
17 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
18 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
19 บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
20 บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
21 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
22 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

ที่มา มติชน