กกร. มองเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังฟื้นตัวแบบมีข้อจำกัดแม้ภาคท่องเที่ยวได้อานิสงส์จากจีนเปิดประเทศ ห่วงต้นทุนการกู้ยืม-พลังงานพุ่ง กระทบความสามารถในการแข่งขัน พร้อมจับตาบาทแข็งจากแรงเก็งกำไรต่างชาติ
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ในวันนี้ (11 มกราคม) มีมติคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ 1-2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2%
โดยที่ประชุมมองว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนอาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่เข้มงวดจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ระดับ 5% ตามเป้าหมายได้ ซึ่งจะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศของจีนก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยประเมินว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20-25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลถึงปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวดังกล่าวต่อไป
“แม้ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงมีข้อจำกัดการฟื้นตัวในด้านอื่นๆ เช่น ภาคการส่งออกที่มีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน ที่ประชุม กกร. จึงยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5%” สนั่นกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ระบุว่า การยกเลิกการผ่อนปรนเงินนำส่งกองทุน FIDF ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 0.23% ต่อปี ได้ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้เคยปรับลดไปช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สมาคมธนาคารไทยจะยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม
พร้อมกันนี้ จะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ทั้งนี้จะได้มีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้า (Ft) ที่ในช่วงที่ผ่านมา กกร. ได้มีข้อเสนอแนะและหารือกับรัฐบาล เพื่อหาแนวทางออกที่เหมาะสมเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของภาคเอกชน แต่ภาครัฐไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากต้นทุนพลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย
โดยล่าสุด กกร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน Task Force ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทว่า นับจากต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นเร็วที่สุดในภูมิภาคจากสาเหตุหลักๆ คือ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนและกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติที่เข้ามาค่อนข้างมากนับจากต้นปี
“นับจากต้นปีที่ผ่านมามีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้นกว่า 1 ปีของไทยแล้ว 6 หมื่นล้านบาท เทียบกับเงินที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นที่มีเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินส่วนนี้ถูกมองว่าเป็น Hot Money แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์และพร้อมจะดูแลตามกลไกตลาด” ผยงกล่าว