สวัสดีครับเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวซีพี คุยกันสัปดาห์ละครั้ง กับเรื่องราวชวนคิดเกี่ยวกับซีพีในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวการสื่อสารภายในเครือซีพี ผมคิดว่าปีนี้มีเรื่องที่ท้าทายพวกเราชาวซีพีอยู่มากมายให้ต้องทำกัน ตั้งแต่ต้นปีมา เราเจอเรื่องที่ค้างคาจากปีก่อนของภาวะสงครามการค้า แล้วก็เจอกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องมาปรับเป้าหมายและแผนการทำงานกันก่อนเวลา แต่พวกเราชาวซีพีก็ปรับตัวกันได้อย่างรวดเร็ว
ผมเชื่อว่าที่พวกเราผ่านเรื่องราวความท้าทายมาได้น่าจะมาจากการถูกหลอมด้วยค่านิยมซีพีในเรื่องของการยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้พวกเราชาวซีพีปรับตัวและรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือฯ กล่าวไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนอาหาร 3 มื้อที่เราคุ้นเคย รวมทั้งการถูกปลูกฝังในเรื่องของการทำเรื่องยากให้เป็นง่าย
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่เพียงเป็นวันสำคัญเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก แต่เป็นวันสำคัญของเครือซีพีของพวกเรา ที่ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ CEO นำทัพกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ประกาศ 2 เป้าหมายท้าทายระดับโลก
1.การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์
2.การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ พร้อมชูบทบาทความรับผิดชอบของภาคเอกชนที่มีต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคุณศุภชัยจึงถือ 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คุณศุภชัยบอกว่าขณะที่เรามองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาของโลกที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือปัญหาเรื่องโลกร้อน และปัญหาเรื่องมลภาวะทั้งในอากาศ ในน้ำ และบนดิน
จึงกำหนดทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 สู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ
ที่สำคัญ 2 เป้าหมายนี้ถือเป็นความยั่งยืนใหม่ที่ท้าทายและต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2030 หรืออีก 10ปีจากวันนี้
คุณศุภชัยบอกเครือซีพีมุ่งมั่นจะขับเคลื่อน แก้ปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้ามนุษย์ไม่ช่วยกันรักษาสมดุลของโลก วันหนึ่งมนุษย์อาจสูญพันธุ์โดยไม่รู้ตัว มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก1.5 องศาเซลเซียส และภายในปี 2050 จะสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน เร่งสร้างการตระหนักรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ และนำมาซึ่งความพยายามรักษาและบำบัดทรัพยากรธรรมชาติ
โดยเฉพาะเรื่อง “Zero Waste” และ“Zero Carbon” ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญระดับโลก และเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ปัญหา หากบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ไม่เพียงแต่จะสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่จะทำให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืน ประเทศชาติและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ครับผมเชื่อว่าแม้สิ่งที่ท่านCEOประกาศกับสังคมจะเป็นเรื่องยาก ท้าทาย แต่คนซีพีกว่า3แสนจะร่วมแรงร่วมใจกันเหมือนที่พวกเราทำเรื่องยาก ท้าทายมาแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การทำเพื่อองค์กร แต่เป็นการทำเพื่อโลก เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ เพื่อลูกหลานของพวกเรา
จากวันนี้ไปคนซีพีช่วยกันยึด2เรื่องนี้ไว้ในใจและช่วยกันคิดค้น พัฒนาวิธีการทำงานนวัตกรรมใหม่ๆในการทำงาน การทำธุรกิจ ที่นำไปสู่การลดความสูญเสีย “Zero Waste” และ“Zero Carbon” ด้วยแนวคิด“NO ONE IS TOO SMALL TO MAKE A CHANGE” หรือ “ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”
ไม่ว่าเพื่อนๆซีพีจะเป็นพนักงานกลุ่มธุรกิจไหน กลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก จะพนักงานระดับไหนทุกคนเป็นพลังสำคัญ เป็นคนหนึ่งที่จะทำให้เครือซีพีทำ2เรื่องนี้ได้สำเร็จเป็นแบบอย่างและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ที่ดีกว่า