เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมสังเกตุการณ์การ Kick Off โครงการปลูกป่าในบ้าน CPP หรือกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด) ที่สถานีวิจัยแสลงพันในพื้นที่วังม่วง สระบุรี ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ข้อมูลที่น่าสนใจที่อดไม่ได้ที่จะนำมาชวนคิดชวนคุยกับพี่น้องซีพี เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้มาน่าจะเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวซีพีและทำให้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไม โครงการ Wegrow ปลูกเพื่อความยั่งยืนของเครือฯ จึงต้องเกิดขึ้นและทำไมโครงการนี้ถึงต้องชวนคนซีพีกว่า 3 แสนคนช่วยกันปลูกต้นไม้
ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีและชื่นชมกับชาว CPP ที่ได้ริเริ่มโครงการดีๆนี้ แม้แต่ คุณพัชรี คงตระกูลเทียนในฐานะประธานคณะทำงานโครงการรณรงค์การปลูกไม้เศรษฐกิจ ของเครือฯ ยังเอ่ยชื่นชมโครงการนี้ คุณพัชรีเล่าให้เพื่อนๆที่มาร่วมงานกว่า 200 คนว่าปีหนึ่งกิจการของเครือฯมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 6ล้านตันคาร์บอน ซึ่งหากเทียบจำนวนคาร์บอนนี้เท่ากับเราต้องปลูกต้นไม้คืนถึง 24 ล้านต้น ซึ่งเป็นตัวเลขไม่น้อยทีเดียว และหากกิจการเครือฯยังมีการขยายกิจการต่อเนื่องต่อไปเราก็มีโอกาสปล่อยคาร์บอนออกมา ด้วยเหตุนี้เครือฯโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอของพวกเราจึงตั้งเป้าหมายว่าเครือฯจะต้องปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 เพื่อเราจะได้มีส่วนสำคัญในฐานะภาคเอกชนที่จะช่วยลดสถานการณ์ภาวะโลกร้อน
คุณพัชรีให้ข้อคิดที่ดีอีกว่าเวลานี้เครือซีพีของพวกเราในสายตาของชาวโลกมองว่าเราไม่ใช่องค์กรระดับประเทศแต่เป็นองค์กรระดับโลกที่ถูกคาดหวังว่าเครือฯจะมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องของ Climate Change คนซีพีทุกคนจึงถูกสังคมคาดหวัง
คุณพัชรียังเล่าว่าเรื่องของภาวะโลกร้อน ทำให้กิจการเครือฯอย่างกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด)เคยได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมีอยู่ปีหนึ่งอากาศไม่หนาวเหมือนทุกปีทำให้การผสมพันธุ์ของข้าวโพดไม่ได้ผลผลิตเลยเพราะการผสมเกสรไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้กิจการของเครือฯอย่างกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด)ซึ่งถือเป็นธุรกิจต้นน้ำในการผลิตวัตถุดิบเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์เพื่อให้สัตว์ทาน เริ่มถูกตั้งคำถามจากกระแสการบริโภคใหม่ของโลกที่หันมาทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้มีการตั้งคำถามว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ของเรามีส่วนต่อการลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ทำไมเครือฯจึงริเริ่ม โครงการWegrow ปลูกเพื่อความยั่งยืน ก็เพื่อให้พวกเราชาวซีพีนอกจากช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตแล้ว ยังชวนให้ชาวซีพีปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้ของโครงการปลูกป่าในบ้านของกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด) หรือของหน่วยงานต่างๆไม่เพียงเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่แต่เป็นการทำเพื่อตอบโจทย์ของโลก ตอบโจทย์ของลูกหลานของเราที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดผลกระทบที่จะตามมาไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ความมั่นคงเรื่องอาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณคุณพัชรีประธานคณะทำงานโครงการรณรงค์การปลูกไม้เศรษฐกิจ
ถัดมาที่ผมได้เรียนรู้แล้วอยากถ่ายทอดบอกต่อชาวซีพีครับ คุณสุเมธ ภิญโญสนิท ซีอีโอกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด) พูดในวันงานได้น่าสนใจ สอดรับกับคุณพัชรีคือสังคมต้องการให้ซีพีทำมากกว่าที่ซีพีทำธุรกิจ ซึ่งทั้ง 3ประธาน คือ ประธานอาวุโส ประธานกรรมการ ประธานคณะผู้บริหาร ริเริ่มนำทางคือการรับผิดชอบต่อสังคม ต่อโลก ต่อประเทศ การปลูกต้นไม้ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ชาวซีพีพึงทำ แต่การปลูกต้นไม้เราจะต้องปลูกอย่างมีเป้าหมาย ปลูกแล้วต้นไม้ที่ช่วยกันปลูกต้องรอด ต้องยืนต้น เติบโต จึงต้องพิจารณาเรื่องน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ หากเป็นไปได้หน่วยงานของเครือฯที่จะปลูกต้นไม้ต้องคำนึงถึงระบบน้ำ มีน้ำให้ต้นไม้เพียงพอที่จะอยู่รอดเติบโต
นอกจากน้ำต้องเลือกต้นไม้ที่จะปลูก ต้องดูความเหมาะสมของชนิดต้นไม้ที่เหมาะกับพื้นที่ เลือกไม้ที่เติบโตเร็ว สำหรับการปลูกต้นไม้ของกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด) ตามโครงการที่วางไว้จะต้องรอด100% ซึ่งก็ต้องชื่นชมโครงการปลูกป่าในบ้านของกลุ่มพืชฯมีการวางแผน มีการจัดการ มีระบบน้ำหยด มีการดูแลใส่ปุ๋ย อย่างที่คุณสุเมธบอก ก็หวังว่าอีกไม่นาน ต้นไม้ที่ชาว CPP ช่วยกันปลูกทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศที่ทีมงานไปทำกิจการอยู่จะงอกงาม ร่มรื่นและมีส่วนช่วยโลกใบนี้
ก็ขอเป็นกำลังใจไม่เพียงกลุ่มพืชครบวงจร(ข้าวโพด)แต่ขอเชียร์ทุกกลุ่มธุรกิจของซีพีช่วยกันตั้งเป้า วางแผนการปลูกต้นไม้อย่างจริงจัง ใช้แนวทางของกลุ่มพืชฯไปปรับใช้ เริ่มจากปลูกต้นไม้ในใจแล้วชวนกันไปปลูกต้นไม้ เพื่อโลกของเราเพื่อลูกหลานของเรานะครับ