สวัสดีประจำสัปดาห์ครับพี่น้องซีพี เข้าสู่เดือนที่ 7 ของปีแล้ว ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรงกันนะครับ ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งในบ้านเมืองของเรา บ้านซีพีของพวกเรามากมายที่อยากชวนคิดชวนคุย โดยเฉพาะวันที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มาไลฟ์สด กับทางเพจThe Sustain เพจน้องใหม่ ของทีมงาน ที่ทำเรื่องของความยั่งยืน ซีพี ดร.ธรณ์ได้แชร์ถึงสถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นรวมไปถึงเรื่องการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าพวกเราชาวซีพีต้องคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้นนั่นคือการทำธุรกิจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องไปด้วยกันแบบไม่มีวันที่จะพรากจากกัน
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การระบาดที่ยังไม่จบของโควิด-19 ข่าวเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนบนโลกเรียกร้องเรื่องความรับผิดชอบของภาคธุรกิจมากขึ้น ผู้คนกำลังแสวงหาสินค้า บริการ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของตัวเองแล้วยังตอบโจทย์เรื่องของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขอนามัยมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นสินค้าอย่างอาหารของเครือฯ บริการ ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่แต่ละกลุ่มธุรกิจผลิตออกมา คนจะตั้งคำถามมากขึ้น คนจะพิถีพิถันมากขึ้นในการตัดสินใจที่จะซื้อหามากินมาใช้ ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ ดร.ธรณ์จึงให้ข้อคิดชาวซีพีต้องประเมิน พิจารณาว่าธุรกิจที่ทุกคนเกี่ยวข้องตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงพอหรือไม่
สอดรับกับ คุณพัชรี คงตระกูลเทียน ประธานโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจของเครือฯ ที่เล่าให้เพื่อนๆชาวกลุ่มพืชครบวงจรในงานปลูกป่าในบ้าน CPP ว่าธุรกิจของซีพีถูกมอง ถูกคาดหวังจากผู้บริโภคในสังคมโลกว่า หมูเห็ดเป็ดไก่ที่เราผลิตออกมามีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเพียงใด เราจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ผมคิดว่ากรณีที่มีความเคลื่อนไหว เรียกร้องในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ อาหารที่มาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคำตอบของแหล่งที่มาหรือสามารถตรวจสอบย้อนกลับ กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนทางซีกโลกตะวันตกที่อาจจะไม่มองถึงบริบททางความเชื่อ วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของซีกโลกตะวันออก ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างที่ปรากฏ
ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ ในระดับนโยบายของเครือฯถือเป็นเรื่องที่สำคัญและมีนโยบายที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่คำนึงถึงเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องของสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เรื่องของการตรวจสอบย้อนกลับถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เครือได้ทบทวน ปรับปรุงนโยบาย มาตรการ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจของเครือฯตอบโจทย์ผู้บริโภคแล้วยังตอบโจทย์เรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
เรื่องของอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ที่กิจการเครือฯเกี่ยวข้องจะต้องช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ลดการก่อปัญหาด้านขยะพลาสติก food waste ฯลฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพวกเราชาวซีพีอย่างมาก เพราะต้องคิดใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ
ดร.ธรณ์บอกว่าคุณศุภชัย ซีอีโอของเครือฯกล้าหาญชาญชัยมากที่ประกาศนโยบายแต่ละอย่าง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ดีแต่จะสำเร็จไหมอยู่ที่คน 3 แสนกว่าคนของซีพีจะช่วยกันลงมือคิด ปฏิบัติ สร้างจิตสำนึกใหม่ๆ คิด ไตร่ตรอง ทบทวนเพื่อปิดจุดอ่อน สร้างจุดแข็งใหม่ที่จะทำให้ธุรกิจของซีพีใน 100 ปีตอบโจทย์ของโลกและยังคงทำให้ซีพีอยู่ต่อไป
ดังนั้นคนซีพีทุกคน ทั่วโลก ถือว่ามีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องทำให้สำเร็จคือสร้าง พัฒนา ธุรกิจที่เป็นมิตรกับโลก กับสิ่งแวดล้อม และทุกคนเสมือนเป็นแอมบาสเดอร์ของซีพี ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เป็นแบบอย่างให้สังคมเห็น คนซีพีจะกิน จะใช้ชีวิต จะทำอะไรจะต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของธรรมชาติ และสัตว์ป่า เพราะฉะนั้นทุกการกระทำของพวกเราชาวซีพีจะมีผลต่อความเชื่อมั่น ต่อความรู้สึกของผู้คนที่ติดตามพวกเราอยู่ จึงอยากเชิญชวนชาวซีพีมาช่วยกันนะครับ