EEC เปิดรับฟังความเห็นร่างแผนแม่บทการพัฒนาระยะ 2 (2566-2570) เปิดออปชั่นใหม่ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 15 ปี แจกสิทธิประโยชน์เฉพาะเจาะจง รูปแบบเจรจารายต่อราย เตรียมออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ รวบอำนาจการอนุมัติ-อนุญาตให้จบที่เดียว เป็นช่องทางฟาสต์แทร็กอำนวยความสะดวกนักลงทุนไทย-เทศ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ปี 2566-2570 ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ได้กำหนดกรอบแผนงานหลักไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ในพื้นที่อีอีซี 2.เพิ่มประสิทธิภาพ การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
3.ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัย และเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน
เว้นภาษี 15 ปี-เจรจาเฉพาะราย
โดยอีอีซี ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุน โดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งในแผนแม่บทดังกล่าว จะทบทวนเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ให้กับนักลงทุน โดยตั้งเงื่อนไขการเจรจาเฉพาะราย เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น กรอบสิทธิประโยชน์กำหนดการยกเว้นภาษี 15 ปี แม้จะสูงกว่าบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) แต่อยู่ที่ข้อแลกเปลี่ยนว่าอุตสาหกรรมที่เข้ามา แม้จะมาจากประเทศเดียวกัน
แต่อาจได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน ต้องดูว่านักลงทุนต่างประเทศมีข้อเสนอให้อะไรกับไทยบ้าง เช่น หากต้องการได้รับยกเว้นภาษี 15 ปี มีเงื่อนไขต้องเปิดให้คนไทยถือหุ้น 20% หรือใช้วัตถุดิบที่ผลิตโดยคนไทย หรือบริษัทไทย 30% เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะทำให้เสร็จภายในปี 2566 นี้
“ร่างแผนพัฒนาภาพรวมอีอีซี ได้พิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก ตามแผนนับจากนี้ 5 ปีคาดว่าจะมีการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากแผนระยะที่ 1 (2561-2565) ซึ่งมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1.5 ล้านล้านบาท”
ออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ
นอกจากนี้ เตรียมออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ โดยมี 20 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต ทั้งเรื่องการออกใบอนุญาตสิ่งปลูกสร้าง ใบอนุญาตตั้งโรงงาน ใบอนุญาตวีซ่าให้ชาวต่างชาติ คล้าย long-term resident visa (LTR) ของบีโอไอ แต่มีความแตกต่างในเรื่องเวลาและเงื่อนไขที่ชัดเจนกว่า
โดยในกฎหมายลูกให้อำนาจอีอีซีพิจารณาจบที่เดียว (one stop service) อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนได้เลย เนื่องจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเปิดช่องให้อีอีซีสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้ แต่ในเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย จะนำส่งรายได้กลับไปให้หน่วยงานต้นสังกัด
“EEC เตรียมความพร้อมดึงนักนักลงทุน เหมือนการมีช่องทางด่วน หรือ fast track ถ้านักลงทุนมายื่นที่เราก็จะเร็ว เราจะทำให้ชัดเจน ว่าเรื่องที่คุณขอมาใช้เวลากี่วัน ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ซึ่งนักลงทุนต้องการมากที่สุดในตอนนี้ แต่อาจมีค่าบริการเพิ่มอีกนิดหน่อย เพราะเป็นการใช้บริการช่องทางด่วนพิเศษ ไม่ใช่ช่องทางธรรมดา แต่จะง่าย เร็ว และชัดจบเลย”
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานแผนภาพรวมฯ อีอีซี ระยะที่ 1 (2561-2565) ที่ผ่านมา ได้เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน สร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
เกิดมูลค่าการลงทุนที่อนุมัติแล้วสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก) 661,012 ล้านบาท มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) 1,250,305 ล้านบาท และงบฯบูรณาการอีอีซี 70,271 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติ