สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงการระบาดระลอกล่าสุด ทำให้เกิดวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal พฤติกรรมการปรับตัวที่เห็นได้ชัดเจน คือ การหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น และเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า “อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก้าวข้ามวิกฤตไปได้ ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าในสถานการณ์ปกติหรือภาวะวิกฤต
เช่นเดียวกับ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่าน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 32 ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท, CPF และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกของโครงการฯรวม 880 โรงเรียนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็น “คลังเสบียง” ที่สำคัญของชุมชนได้ ในสถานการณ์เช่นนี้
ตามมาดูการปรับตัวของโรงเรียนในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่ต้องบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ในช่วงปิดเทอม แม้จะไม่สามารถส่งผลผลิตเข้าโครงการอาหารกลางวันได้เพราะโรงเรียนปิด แต่ผลผลิตไข่ไก่และผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน กลับเป็นแหล่งอาหารที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
คุณบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผอ.รร.บ้านแสนสุข ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เล่าถึง การทำงานในช่วงปิดเทอมและอยู่ในช่วงที่มีแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า โควิดทำให้ทุกคนไม่กล้าขยับไปไหน คนในชุมชนก็ไม่กล้าออกจากบ้าน โรงเรียนจึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง นำเสบียงไปจำหน่ายให้ชุมชนตามบ้าน ซึ่ง รร.บ้านแสนสุข มีโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ปัจจุบันเลี้ยงไก่ 100 ตัว มีผลผลิตวันละ 90 ฟอง หรือ 3 แผง ผมก็จะรับหน้าที่ Delivery นำไข่ไก่ไปส่งให้ตามบ้าน 2 วัน/ครั้ง รวมทั้งผลผลิตพืชผักสวนครัวที่โรงเรียนปลูกไว้ ทั้งผักสด และผลผลิตที่นำมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น หน่อไม้ นำมาทำเป็นแกงเปรอะ เป็นต้น ถึงจะอยู่ในช่วงโควิด แต่ชุมชนได้บริโภคสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีนจากไข่ไก่และสารอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนก็มีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่และวัตถุดิบ 1,200-1,800 บาทต่อครั้ง
ด้าน รร.บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้น อ.1 – ม.3 มีเด็กนักเรียน 400 คน หลายชาติพันธุ์ ทั้งคนไทย ลาว พม่า ชาวเขาชาติพันธุ์ ม้ง มูเซอ ลั้ว ขมุ ช่วงนี้ปิดเทอม แต่ยังมีคุณครูที่รับผิดชอบดูแลจัดการผลผลิตไข่ไก่ จำหน่ายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนที่มาซื้อไข่ไก่ถึงที่โรงเรียน
คุณวายุวัฒน์ ชัยวรรณะ ผอ.รร.บ้านเมืองกาญจน์ เล่าว่า รร.บ้านเมืองกาญจน์ เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่มาตั้งแต่ปี 2561 สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และพันธกิจของโรงเรียน คือ ส่งเสริมให้นักเรียน คิดเป็น ทำได้ ขายเป็น เป็นการวางพื้นฐานในการฝึกอาชีพให้แก่เด็กๆ เพื่อนำไปใช้ต่อไปได้ ปัจจุบันเลี้ยงไก่เป็นรุ่นที่ 2 แล้ว 300 ตัว ได้ผลผลิตไข่ไก่วันละ 9 แผง (แผงละ 30 ฟอง) ในช่วงปกติจะนำผลผลิตไข่ไก่ส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เพื่อให้น้องๆ ได้ทานอาหารที่ทำจากไข่ไก่ สัปดาห์ละ 3 วัน แต่ในช่วงโควิดตรงกับช่วงปิดเทอม ไม่สามารถส่งผลผลิตไข่ไก่เข้าโครงการได้ จึงจำหน่ายให้แก่คุณครูและชุมชนในราคาแผงละ 80 บาท โดยชุมชนเข้ามารับซื้อถึงที่โรงเรียน ส่วนในช่วงสถานการณ์ปกติและเปิดเทอม ชุมชนจะเข้ามาซื้อไข่ไก่จากสหกรณ์ของโรงเรียน นอกจากนี้ นักเรียนและคณะครู นำไปจำหน่ายตามร้านอาหารในตัวอำเภอด้วย
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ อีกหลายแห่ง ที่พร้อมเป็นคลังเสบียงให้ชุมชนในช่วงโควิด นำผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายสู่ชุมชน ได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ราคาย่อมเยาด้วย
คุณสรพงษ์ คำดี คุณครูที่รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ รร.บ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2563 มีจำนวนไก่ที่เลี้ยงไว้ 200 ตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CPF เล่าว่า ถึงแม้ในช่วงปิดเทอมจะไม่ได้ส่งผลผลิตไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวัน แต่ก็สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ทุกวัน โดยนำไปขายกับคุณครูในโรงเรียนหรือชุมชนที่มาขอซื้อจากโรงเรียน เพราะราคาถูกกว่าท้องตลาด ในช่วงที่เด็กๆ ซึ่งเป็นอาสาสมัครรับผิดชอบดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ อยู่ในช่วงปิดเทอม โรงเรียนมอบหมายให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้พิการที่ CPF จ้างมาช่วยงาน ทำหน้าที่เก็บไข่ไก่ ให้อาหารไก่ และทำความสะอาดโรงเรือน ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระของโรงเรียนได้มาก
ด้าน คุณประสงค์ สิทธิวงค์ ครูชำนาญการพิเศษ รร.บ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) จ.เชียงราย ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ กล่าวว่า ช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม โรงเรียนเก็บผลผลิตได้วันละ 7 แผง (แผงละ 30 ฟอง) จากแม่ไก่ที่เลี้ยงไว้กว่า 200 ตัว แล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชน โดยจะออกไปจำหน่ายให้ถึงที่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในช่วงโควิด นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองนักเรียนบางท่านที่ทำงานโรงงานในพื้นที่ มาช่วยรับไข่ไก่จากโรงเรียนไปช่วยขายให้พนักงานในโรงงาน นับว่าโรงเรียนมีส่วนร่วมในการผลิตอาหารและเป็นแหล่งอาหารของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ” มีเป้าหมายหลักเพื่อบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนจากโรงเรียนสู่ชุมชน เป็นคลังเสบียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระดับชุมชนได้ในภาวะวิกฤต
Cr.PR CPF