ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ ” ESG ไม่ใช่กระแสระยะสั้นที่มาแล้วจบไป แต่เพื่ออยู่รอดในโลกยุคใหม่

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

สมาคมธนาคารไทยได้จัดงานประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) โดย ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ยินดีกับก้าวสำคัญของภาคการเงินไทย ที่จะยกระดับการทำหน้าที่สนับสนุนการปรับตัวของประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักสำหรับการพัฒนาประเทศในช่วงเวลานี้

ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องความยั่งยืน ที่ประกอบด้วยประเด็นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกกันว่า ESG ไม่ได้เป็นกระแสระยะสั้นที่มาแล้วจบไป แต่จะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงและผนวกไว้ในกระบวนการทางธุรกิจ การดำเนินชีวิต รวมถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่

โดยผู้บริโภคทั่วโลก นักลงทุน และผู้ใช้บริการทางการเงิน ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจะกดดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัว นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ เริ่มยกระดับการบังคับใช้กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องดำเนินงานในเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง เช่น การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศได้ทยอยบังคับใช้แล้ว รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป จำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานรวมถึงผลลัพธ์เรื่องความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านความยั่งยืนในหลายมิติ ทั้งด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบเร็วและรุนแรงกว่าที่คาด รวมถึงมิติด้านสังคมในส่วนของการเงินภาคประชาชน ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินและหนี้ครัวเรือน ที่อาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำจนฉุดรั้งการเติบโตของไทยได้

แม้ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ในไทยจะเริ่มยกระดับการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนไปพอควร สะท้อนจากบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) มีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่หากมองภาพรวมที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ของประเทศ ยังต้องปรับตัวอีกมาก จากผลสำรวจระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล พบว่ามีเพียงร้อยละ 16 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่สามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดการก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ และมีเพียงร้อยละ 7 ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งในจำนวนนี้ ยังไม่นับรวมธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ที่อาจยังไม่ตระหนักรู้ หรือไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการปรับตัวในเรื่องนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแล จึงตระหนักถึงบทบาทของภาคการเงิน ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้สามารถปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้ดีขึ้น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท. ได้เผยแพร่ “แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นแนวทางในการปรับภาคการเงินให้ยืดหยุ่น (resilient) และยกระดับบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์โลกอนาคตได้ดีขึ้น ซึ่งได้รวมการปรับตัวภายใต้ ESG ไว้ด้วย โดยสิ่งที่ ธปท. อยากเห็น คือ

  1. สถาบันการเงินมีกระบวนการผนวกเรื่อง ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ
  2. สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่จะเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าทัน รวมถึงมีความรับผิดชอบที่จะช่วยให้ภาคประชาชนบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสมและจัดการหนี้สินได้อย่างยั่งยืน
  3. สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างทันการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ล่าสุด ธปท. จึงได้ออกเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อให้เห็นแนวทางของ ธปท. ที่จะสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของระบบเศรษฐกิจได้

สำหรับบทบาทของภาคการเงินด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานที่ผ่านมาเริ่มมีความคืบหน้า แต่การขับเคลื่อนให้เห็นผลที่ชัดเจนยังทำได้จำกัด เนื่องจากแต่ละภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังมีแนวทางการจัดกลุ่มหรือมาตรวัดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ตรงกัน การสนับสนุนหรือการจัดสรรเงินทุนจึงยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่และตรงจุด

ดังนั้น ในการช่วยผลักดันการปรับตัวของภาคการเงิน อย่างแรก ธปท. จึงจะเร่งให้มีการกำหนดนิยามหรือจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า taxonomy เพื่อสร้างความเข้าใจและมาตรฐานการประเมินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ตรงกัน สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย วางแผนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจได้ในวงกว้าง โดยจะเริ่มจากการจัดทำ taxonomy ของภาคพลังงานและขนส่งก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงต้นปีหน้า

การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ จำเป็นต้องมีข้อมูลในระดับมหภาค เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรม อีกทั้งภาคการเงินก็ต้องการข้อมูลระดับ firm level เพื่อใช้ประเมินว่าธุรกิจดำเนินการสอดคล้องกับทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด เพื่อจัดสรรเงินทุนให้เหมาะสม ดังนั้น เรื่องที่สองที่ ธปท. จะเร่งผลักดัน คือ การพัฒนาฐานข้อมูลและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับประเทศ

ตัวอย่างเหล่านี้ คือ เครื่องมือที่ ธปท. จะช่วยให้การจัดทรัพยากรในภาคการเงินทำได้ตรงจุดยิ่งขึ้น แต่เพื่อให้มี ecosystem สำหรับการดำเนินการด้าน ESG ที่สมบูรณ์ ต้องอาศัยการปรับธุรกิจของภาคการเงินเองแบบ end-to-end ให้คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบด้วย ซึ่งเมื่อปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ร่วมกันลงนามใน Sustainable Banking Guidelines เพื่อส่งเสริม Responsible Lending หรือการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เพื่อนำปัจจัยด้าน ESG มาร่วมพิจารณากำหนดนโยบายและกระบวนการให้สินเชื่อ จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น เราเห็นพัฒนาการและการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับแนวคิดด้านความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง และ ธปท. จะเร่งส่งเสริมให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานโดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการดำเนินงานและบริหารจัดการความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (standard practices)

อย่างไรก็ดี

การขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม จะอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน คือ ต้องคำนึงถึงจังหวะเวลา (timing) และความเร็ว (speed) ที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศ โดยจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนและผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ดังนั้น การดำเนินการจึงต้อง “ไม่ช้าเกินไป” จนเกิดผลกระทบลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ และ “ไม่เร็วเกินไป” จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

“ในวันนี้ ผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกทุกแห่งจะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะผนวกรวมทุกมิติด้านความยั่งยืน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการดำเนินธุรกิจของภาคการเงินไทย ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะให้กับสาธารณชน ว่าจะเร่งปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจไปสู่การพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ESG ของประเทศ และยืนยันความตั้งใจด้วยการกำหนดแผนดำเนินงาน กรอบเวลา และแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน”

การประกาศร่วมกันในครั้งนี้จะทำให้การเดินหน้าในเรื่อง ESG ของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีความสอดคล้องและมาตรฐานใกล้เคียงกันยิ่งขึ้น และจะช่วยเร่งการปรับตัวของภาคการเงินในภาพรวมได้ ซึ่งสอดรับกับแนวนโยบายของ ธปท. ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

ในระยะต่อไป เราจะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ที่มีโครงสร้างการบริหารจัดการภายในที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ซึ่งท้ายที่สุด จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับตัว รวมทั้งคำนึงถึงความยั่งยืนของลูกค้าหรือลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรม

การร่วมแสดงเจตนารมณ์วันนี้ จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเศรษฐกิจจริง และภาคการเงิน เมื่อรวมกับความตระหนักรู้และความพร้อมที่จะปรับตัวของประชาชน จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ได้อย่างราบรื่นและทันการณ์

ที่มา ไทยพับลิก้า