ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากมาย การกำกับดูแลการปฏิบัติงานและจริยธรรมเริ่มถูกหยิบยกเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างในฐานะที่เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรอยู่รอดและฝ่าฟันสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้นำองค์กรก็ถูกจับตามองเช่นกันว่าจะประยุกต์ใช้ “จริยธรรม” เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจที่ร้อนแรง แต่การที่จะวัดและประเมินผลการดำเนินงานด้าน “จริยธรรม” นั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ผู้ที่จะทำหน้าที่ประเมินควรเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นหน่วยงานกลางที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและองค์กร
Ethisphere สถาบันที่ทั่วโลกยอมรับ
คนที่ทำงานในองค์กรซึ่งมีเครือข่ายระดับโลกอาจคุ้นชื่อ Ethisphere Institute กันมาบ้างแล้ว เพราะเป็นองค์กรจากสหรัฐอเมริกาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวัดและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม (World’s Most Ethical Companies) ซึ่งปัจจุบันนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก แม้ว่าในประเทศไทยอาจจะยังไม่คุ้นหูมากนัก แต่สำหรับบริษัทต่างๆ รวมถึงนักลงทุนจากทั่วโลกคุ้นเคยและให้การยอมรับเป็นอย่างดี
“Ethisphere Institute” ทำหน้าที่กำหนดและประมวล “มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม” เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจบริหารกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเติบโตอย่างยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ด้วยปณิธานสำคัญคือ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่ดี โดยได้จัดทำมาตรฐานจริยธรรมสำหรับให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเป็นเครือข่ายสมาชิกมากกว่า 300 บริษัท อาทิ H&M, Intel, Microsoft, IBM, Kohl’s, Pepsico, Kellogg’s, L’oreal และ Sony เป็นต้น
บริษัทที่ผ่านการประเมิน และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะมีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแนวทางในการบริหารธุรกิจอย่างมีจริยธรรมผ่านการประชุมสุดยอดประจำปี พร้อมทั้งได้รับเคล็ด (ไม่) ลับเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีด้านจริยธรรม (Ethics) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) จากผู้เชี่ยวชาญและบริษัทที่มีจริยธรรมอันโดดเด่น
นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ที่สามารถใช้ตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การดึงดูดกลุ่มนักลงทุน State Street Global Advisors ให้ตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัทเหล่านี้พร้อมกับการมีชื่อเสียงในฐานะบริษัทที่มีจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ลงทุนและผู้สนใจต่าง ๆ จากทั่วโลก
ภารกิจการประกาศชื่อบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก
Ethisphere Institute ยังมีภารกิจที่สำคัญคือ การประกาศและเผยแพร่รายชื่อบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก หรือ World’s Most Ethical Companies® เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการการันตีความสำเร็จด้านจริยธรรมในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งได้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550
การประกาศรางวัลในครั้งนั้นมีบริษัทที่มีจริยธรรมโดดเด่น 92 บริษัทและจัดมอบรางวัลเรื่อยมาจนถึงปีล่าสุดในปี 2563 มีบริษัทที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ถึง 131 บริษัท กระจายใน 50 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุม 21 ประเทศทั่วโลก
บริษัทที่ได้รับรางวัลเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา 76.3 % รองลงมาเป็นบริษัทจากสหราชอาณาจักร 3.1% แคนาดา 2.3% และประเทศอื่น ๆ รองลงมาตามลำดับ อาทิ 3M (USA), APTIV (UK), KAO (Japan), L’oreal (France), Nokia (Finland), Accenture (Ireland),Capital Power (Canada), Cementos Progreso (Guatemala), Bimbo (Mexico) และ Natura (Brazil) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ได้รับรางวัลนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยในปี 2019 บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (DTGO) เป็นบริษัทแรกของไทยและของอาเซียนในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ และได้รับรางวัลต่อเนื่องในปี 2020
การพิจารณาให้บริษัทมีจริยธรรมระดับโลก
หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วบริษัทหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรจากทั่วโลกสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้หรือไม่ อย่างไร คำตอบก็คือ ทุกองค์กรสามารถแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมการประเมิน โดย Ethisphere Institute จะส่งคำถามเฉพาะเพื่อให้บริษัทที่แสดงความจำนงตอบในประเด็นที่กำหนด
บริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดตามหลักเกณฑ์การประเมินที่มีมากกว่า 200 ข้อใน 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย กระบวนการดำเนินงานด้านจริยธรรมและการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (compliance), การกำกับดูแลกิจการ (corporate governance), การสร้างวัฒนธรรมด้านจริยธรรม, ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และชื่อเสียงขององค์กรและภาวะผู้นำ
ทั้งนี้ Ethisphere จะประเมินจากเอกสารร่วมกับตรวจสอบจากข้อมูลของบริษัทที่เผยแพร่ต่อสาธารณะและที่ปรากฎในสื่อย้อนหลัง 5 ปี โดยประเมินผลเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
รางวัลนี้จึงนับเป็นความท้าทายของบริษัทไทยที่จะต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการปลูกฝังจริยธรรมและการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบในการดำเนินงานขององค์กรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีระบบและขั้นตอนที่ครอบคลุมชัดเจน มีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานเชิงประจักษ์และตรวจสอบได้ มีการถ่ายทอดให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าไปพร้อมกัน ตลอดจนชื่อเสียงที่ปรากฏต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะได้รับรางวัลระดับโลกนี้
สำหรับรางวัล World’s Most Ethical Companies® ประจำปี 2021 ที่ Ethisphere Institute จะประกาศขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คงต้องติดตามกันว่าจะมีบริษัทชั้นนำจากประเทศไหนที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้บ้าง และจะมีบริษัทที่มีจริยธรรมอันโดดเด่นจากประเทศไทยหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป หรือตามติดความเคลื่อนไหวของรางวัลนี้ได้ที่ www.worldsmostethicalcompanies.com