รางวัลเป็นกำลังใจและเครื่องบ่งชี้ถึงผลของการลงมือปฏิบัติ การได้รับคัดเลือกจาก Ethisphere สถาบันระดับโลกด้านประเมินมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม และยกย่องให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกในปีนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ยิ่งตอกย้ำถึงความร่วมแรงร่วมใจของชาวซีพีที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อส่งมอบสินค้า บริการและคุณค่าที่ดีที่สุดให้กับผู้คนในสังคม
ทุกรางวัลย่อมมีเกณฑ์กติกาการให้คะแนน และต้องแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ คุณรงค์รุจา สายเชื้อ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธรรมาภิบาล สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า Ethisphere มีหลักเกณฑ์และกระบวนการให้คะแนนแยกเป็นส่วน ๆ โดยให้น้ำหนักแตกต่างกัน การรวบรวมข้อมูลในแต่ละด้านมาจากการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ
คุณรงค์รุจา กล่าวว่า Ethisphere กำหนดกรอบและสัดส่วนการให้คะแนนใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. Governance 15% 2. Environmental & Societal Impact 20% 3. Culture of Ethics 20% 4. Ethics & Compliance Program 35% และ 5. Leadership & Reputation 10% ทำให้มีแนวทางในการขับเคลื่อนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ และกลุ่มธุรกิจ
จากสัดส่วนคะแนนจะเห็นว่า Ethisphere มุ่งเน้นในเรื่องของ Ethics & Compliance (E&C) Program ซึ่งเครือฯได้พัฒนากระบวนการขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติครบทั้ง 6 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ 1) การประเมินความเสี่ยงองค์กรตามกรอบการบริหารความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงด้าน E&C และด้านการทุจริตคอร์รัปชัน 2) การควบคุมการปฏิบัติงานโดยกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อการบังคับใช้ทั่วทั้งเครือและจัดให้มีการควบคุมภายใน รวมถึงมีการติดตามและรายงานผลการดำเนินการ 3) การสร้างความตระหนักรู้ด้วยการสื่อสารและฝึกอบรมในเรื่อง E&C ให้กับบุคลากรทุกระดับ พร้อมทั้งพัฒนาสื่อการสอนเพื่อให้กลุ่มธุรกิจนำไปสื่อสารต่อได้ 4) การประเมินผลการปฏิบัติด้าน E&C ซึ่งได้รับการตรวจสอบและประเมินทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานนอก 5) การสร้างวัฒนธรรมด้านจริยธรรม โดยการปลูกฝังผ่านค่านิยมหลัก 6 ประการ และจรรยาบรรณธุรกิจ ซึ่งมีการทบทวนและรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มธุรกิจเป็นระยะ และ 6) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยการประเมินประสิทธิผลการดำเนินงานด้าน E&C สม่ำเสมอและนำผลจากการประเมินมาจัดทำเป็นแผน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการด้าน E&C ให้ดียิ่งขึ้น การดำเนินงานทั้ง 6 ด้านนี้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพนักงานทุกคน เครือฯยังได้นำขั้นตอนทั้ง 6 ด้านนี้ไปบริหารคู่ค้า รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกอีกด้วย
คุณรงค์รุจา กล่าวต่อว่า “การได้รับคัดเลือกจาก Ethisphere จึงเป็นผลงานของพนักงานทุกคนที่สะท้อนถึงการปรับตัว การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ยิ่งรู้ว่ามีเกณฑ์การวัดจากหน่วยงานภายนอกที่ชัดเจน ยิ่งเร่งให้ต้องปรับปรุง E&C Program ให้อัพเดท และทำให้เครือซีพีก้าวหน้ายิ่งขึ้น”
พร้อมย้ำว่า “การขับเคลื่อนเรื่อง E&C ไม่สามารถทำได้ด้วยคนกลุ่มเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยเครือซีพีมีพนักงานกว่า 4 แสนคนและอยู่ในหลายประเทศ จำเป็นต้องมีเครือข่ายมาร่วมทำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เราพัฒนาเครื่องมือและซอฟต์แวร์ ทุกอย่างทำบนระบบทั้งหมด บริษัทในเครือสามารถเข้ามาใช้ ทำให้ติดตามการดำเนินการได้ทันที เราพยายามสร้างระบบให้ดีขึ้น เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าถึงและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการสุ่มสำรวจและฝึกอบรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจของพนักงานเป็นระยะ ๆ เพื่อตอกย้ำ “การปฏิบัติได้จริง” ไปพร้อม ๆ กับให้พนักงานประเมิน E&C Program เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงการดำเนินงานในทุกปี”
คุณรงค์รุจา กล่าวว่า “การได้รับคัดเลือกจาก Ethisphere เป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะมีคำถามเชิงลึกที่เราต้องให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อให้เห็นว่า เรามีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการทุกอย่างถูกรายงานเป็นพรีเซนเทชั่นกว่า 200 หน้า ซึ่งในปีนี้คะแนนที่เครือซีพีได้ค่อนข้างสูง ดังนั้นเราต้องทำทุกวันให้ดีขึ้นตามแนวคิด “พอใจวันเดียว” ของท่านประธานอาวุโส เพื่อให้เราพร้อมสำหรับรางวัลนี้ในปีถัด ๆ ไป”
ส่วนด้าน Environmental & Social Impact ซึ่งเป็นอีกด้านที่ Ethisphere ให้ความสำคัญเช่นกัน คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร กล่าวว่า “รางวัลที่ได้เป็นความภูมิใจของทีมงาน และสะท้อนถึงความพยายาม เพราะเราเริ่มต้นมาตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน โดยปรับปรุงกระบวนการภายใน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์กรในประเด็นที่ไม่ใช่สร้างรายได้โดยตรง แต่เกิดรายได้ทางอ้อมจากการลดความเสี่ยง ลดต้นทุนและสร้างประโยชน์ต่อประเทศและสังคมในระยะยาว เราขับเคลื่อนเรื่องนี้ในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน จนวันนี้เราเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน”
เครือฯจัดทำยุทธศาสตร์ความยั่งยืนครั้งแรกปี 2015 จากการผลักดันของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เมื่อครบกำหนดตามเป้าหมายในปี 2020 ได้มีการประเมินและสรุปผล พร้อมวางเป้าหมายไปอีก 10 ปีข้างหน้าคือปี 2030 การที่เครือฯมียุทธศาสตร์ มีนโยบาย มีแนวปฏิบัติ มีการติดตามและวัดผล ทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับยกระดับมาตรฐานให้ดีขึ้น
คุณสมเจตนากล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือมี 3 เสาหลักคือ Heart: Living Right , Health: Living Well และ Home: Living together การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม อยู่บนฐาน 3 เสาหลักนี้
ประเด็นด้านสังคมจะอยู่ในด้าน Heart กับ Health เป็นหลัก ส่วนด้าน Heart จะให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน ไม่เฉพาะพนักงานของเครือฯ แต่ครอบคลุมบริษัทภายนอกที่ร่วมงานกับเครือฯด้วย รวมทั้งชุมชนที่อยู่รอบโรงงาน มีการให้การศึกษาทั้งภายในและภายนอกองค์กร การพัฒนาผู้นำ พัฒนาบุคคลากร ตลอดจน life long learning เพราะการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต
ด้าน Health ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม ยกระดับทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ให้มีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในกลุ่มเปราะบางตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 5 ล้านคน นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายช่วยคนที่มีความต้องการเข้าถึงอาหารได้ประมาณ 10 ล้านคน ตลอดจนเป้าหมายการมีรายได้จากสินค้าและบริการที่ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี 70% ของรายได้รวม ทั้งหมดให้เกิดขึ้นภายในปี 2030
ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในเสาหลักที่เรียกว่า Home มีเป้าหมายในเรื่อง climate change การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลด waste โดยการนำกลับไปใช้ให้ได้มากที่สุด การดูแลทรัพยากรน้ำ การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ
ประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้ขยายครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยมีเกณฑ์ที่ใช้ประเมินความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการทำงานร่วมกับคู่ค้าเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานของเครือฯ รวมทั้งมีนโยบายจัดหาอย่างยั่งยืน และ supplier code of conduct เพื่อเป็นแนวทางให้คู่ค้า พัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งมีการประเมิน supply chain ที่ลงลึกไปยังคู่ค้าของคู่ค้าอีกชั้นหนึ่งเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันกับเครือฯ
“เรามีตัวชี้วัดจากภายในและภายนอก ทั้งจาก Ethisphere และองค์กรสากลต่าง ๆ ที่คอยวัดเรา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราต้องปรับปรุงตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะเกณฑ์ที่ใช้ประเมินไม่ตายตัว มีการปรับเปลี่ยนให้เข้มข้น ลงลึกในเชิงปฏิบัติทุกปี และเป็นประเด็นใหม่ ๆ ของโลก ฉะนั้นมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราต้องตื่นตัว เรียนรู้และลงมือทำตลอดเวลา” คุณสมเจตนากล่าวสรุป