สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสมาชิก 19 ประเทศในกลุ่มยูโรโซน ประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 0.5%
ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ตัวเลข GDP ของยูโรโซนขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.4% กระนั้นก็ยังแผ่วลงจากไตรมาสแรกซึ่งขยายตัวที่ 5.4%
แถลงการณ์ของ Eurostat ระบุว่า GDP ของกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโรปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากเศรษฐกิจของสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี ดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า แม้จะเผชิญกับปัจจัยท้าทายอย่างวิกฤตเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนจากสงครามในยูเครน โดยเศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ส่วนเศรษฐกิจอิตาลีขยายตัว 1.0% และสเปนขยายตัวที่ 1.1%
อย่างไรก็ตาม เยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของยุโรป กลับหดตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
แม้ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ของยูโรโซนจะช่วยคลายความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจส่วนหนึ่ง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวยังคงไม่สดใสสักเท่าไรนัก โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 8.9% ขณะที่ราคาอาหารและพลังงานที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้กำลังการบริโภคของประชาชนและภาคธุรกิจในยุโรปลดต่ำลง
สำหรับความท้าทายที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดของยุโรปในเวลานี้ก็คือ ซัพพลายพลังงาน หลังจากที่ทางสหภาพยุโรป (EU) แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย หนึ่งในแหล่งนำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของยุโรป เพื่อลงโทษรัสเซียกรณีบุกยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการสำรวจความเห็นของผู้จัดการกองทุนในยุโรปโดย Bank of America ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 54% ในเดือนมิถุนายน
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วภูมิภาคยุโรปต่างทยอยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณซัพพลายก๊าซที่นำเข้าจากรัสเซียเฉลี่ย 40% ปรับตัวลดลงเหลือ 20% ในช่วงเดือนมิถุนายน ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เดินหน้าจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับใช้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า หากรัฐบาลรัสเซียตัดสินใจระงับการส่งออกพลังงานให้กับยุโรป เศรษฐกิจหลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้อาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในเวลา 2-3 เดือน
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเห็นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าหากรัสเซียระงับการส่งออกก๊าซให้กับทางยุโรป จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งทั้งหมดล้วนพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก หดตัวลงไปมากถึง 6%
ขณะเดียวกัน ทางผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า การระงับการส่งออกพลังงานของรัสเซียยังส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของเยอรมนีหายไปถึง 2.2 พันล้านยูโรในช่วง 2 ปีข้างหน้า
อ้างอิง:
ที่มา THE STANDARD