ธปท.ผลักดันระบบชำระเงินดิจิทัลทางเลือกหลักคนไทยยกระดับคุณภาพชีวิต-ลดต้นทุนธุรกิจ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัลของไทยว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย.65 ธปท.ได้มีการประกาศทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบการชำระเงินในระยะ 3 ปี (2565-2567) เพื่อให้ระบบการชำระเงินดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคการเงิน ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ที่ผ่านมา ระบบการชำระเงินดิจิทัลของไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนการพัฒนาระบบการชำระเงิน 4 ฉบับ ทั้งในเรื่องการวางรากฐาน การพัฒนาบริการใหม่ ซึ่งพร้อมเพย์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 59 ถึงปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนถึง 71 ล้านหมายเลข มีปริมาณธุรกรรมวันละ 38 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการต่อยอดบริการที่หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการชำระเงินผ่าน QR Code, การคืนภาษีเงินได้ผ่านพร้อมเพย์, การจ่ายเงินช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด และเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ, การบริจาคผ่าน E Donation และการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน-โอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

โดยระบบพร้อมเพย์ของไทย มีการเชื่อมโยงกับระบบ pay now ของสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็น fast payment คู่แรกของโลก และในอนาคตมีแผนจะชำระเงินระหว่างประเทศร่วมกับอีก 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ยังจะผลักดันโครงการพื้นฐานที่สำคัญอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการโอนเงิน การยกระดับกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจการชำระเงินให้สอดรับกับการพัฒนาเทคโนโลยี และความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการชำระเงิน รวมถึงผลกระทบจากสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังมีบทบาททางการเงินมากขึ้น

นายรณดล กล่าวว่า ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากเป็นทางเลือกใหม่แล้ว ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้หันมาทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยปัจจุบันมีปริมาณการใช้ธุรกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 60 สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้ระบบดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น

แม้ระบบการชำระเงินของไทยจะได้รับการพัฒนามาอย่างดี จนทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็น 1 ในผู้นำของการชำระเงินในภูมิภาคและของโลกนั้น แต่ยังมีความท้าทายอีกมากที่จะต้องเผชิญ ทั้งการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของระบบดิจิทัล, สถานการณ์หลังโควิดคลี่คลาย และการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่หลากหลาย และต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ๆ

ดังนั้น การกำหนดทิศทางการดูแลการชำระเงินในระยะ 3 ปีข้างหน้า จะต้องมีความชัดเจนขึ้น เพื่อสนับสนุนให้การเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและราบรื่น ซึ่ง ธปท.ได้วางกรอบนโยบายในเรื่องระบบการชำระเงินไว้ 3 ด้าน ดังนี้

1. การส่งเสริมให้การใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน และการนำข้อมูลชำระเงินร่วมกันถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเชื่อมโยง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการนำนวัตกรรมการชำระเงินใหม่ๆ มาต่อยอดในอนาคต โดยสิ่งที่ ธปท.กำลังเร่งขับเคลื่อน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการทำธุรกิจค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจแบบดิจิทัลที่ครบวงจร หรือ PromptBiz ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคธุรกิจไทยให้สามารถลดการใช้เอกสาร ลดเวลา ลดต้นทุน แต่เพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาธรรมาภิบาล ภายใต้การดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม

2. การส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินแบบดิจิทัลให้มีความกว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น พร้อม ๆ กับการให้ความรู้แก่ผู้ใช้งาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของคนไทย สามารถใช้งานได้อย่างมีความรู้ ความเข้าใจ และปลอดภัย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน

3. การดูแลผู้ให้บริการมีความยืดหยุ่นขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สามารถรองรับกับความเสี่ยงใหม่ ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากร และเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ต้องมีทักษะความรู้อย่างเพียงพอ รวมทั้งต้องมีความร่วมมือกันในภาคการเงินเพื่อเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยง และการรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงินของไทย

นายรณดล กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของทิศทางระบบการชำระเงินในแผนกลยุทธ์ฉบับปี 65-67 ว่า ธปท.ได้กำหนดเป้าหมายความสำเร็จให้มีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายการชำระเงินดิจิทัลให้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า หรือคิดเป็น 800 ครั้ง/คน/ปี ควบคู่ไปกับการลดใช้เงินสด และเช็คอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากวิสัยทัศน์กำหนดไว้ว่า การชำระเงินดิจิทัลจะเป็นทางเลือกหลัก ที่เข้าถึงผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดลดน้อยลง ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนของประเทศ ช่วยให้คนไทยมีบริการทางการเงินที่สะดวกรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้นี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยผลักดันให้ระบบการชำระเงินเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์