เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยโตช้า แต่ ‘ธุรกิจเฮลท์แคร์’ ยังมีโอกาส เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย 32 ล้านคนที่อายุเกิน 40 ปีแล้ว

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยโตช้า แต่ ‘ธุรกิจเฮลท์แคร์’ ยังมีโอกาส เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย 32 ล้านคนที่อายุเกิน 40 ปีแล้ว รายงายล่าสุดจาก finbiz by ttb สะท้อนโอกาสของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเศรษฐกิจไทยโตช้า แต่ทำไมถึงเป็นแบบนั้น อ่านสรุปจาก Brand Inside

เศรษฐกิจโลกชะลอ เศรษฐกิจไทยโตช้า

ตอนนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก คือ ชะลอตัว : IMF บอกจะขยายตัวแค่ 3.2% เพราะความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการค้าโลกพุ่งสูง แม้เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มดี แต่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง และแต่ละประเทศเจอกับปัญหาจีนระบายสินค้าไปทั่วโลก ทำให้ SME แต่ละประเทศอยู่ยากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจไทย คือ เติบโตช้า : คาดเติบโต 2.5% แต่กำลังซื้อจะชะลอลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่เจอปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง-ดอกเบี้ยสูง เบิกจ่ายงบล่าช้า ท่องเที่ยวฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เติบโตช้าและต่ำกว่าศักยภาพ

สถานการณ์นี้กลายเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจบางอย่าง เช่น ‘เฮลท์แคร์’

ธุรกิจเฮลท์แคร์ เติบโตดีสวนกระแสเศรษฐกิจ

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ยังมีโอกาส คือ

1) กลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดบริการทางการแพทย์ไทย คือ ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ คาดว่าจะเข้ามาประเทศไทยประมาณ 33 ล้านคนในปีนี้

โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางมีสัดส่วนรายจ่ายการแพทย์ที่สูง อีกกลุ่มคือ แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย จำนวน 2.6 ล้านคน ซึ่งมีประกันตนในสัดส่วน 40%

2) โครงสร้างประชากรไทยช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 32 ล้านคน แต่ในปี 2031 คาดว่ากลุ่มวัยนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 37 ล้านคน .

จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจกายภาพบำบัดเติบโต เพราะได้รับแรงหนุนจากโรคเรื้อรังที่ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม

ธุรกิจเฮลท์แคร์เติบโตแค่ไหนในปีนี้

– ปี 2024 คาดว่าตลาดบริการทางการแพทย์เอกชนจะมีรายได้เติบโต 4.4 แสนล้านบาท

– รายได้ 72% ของตลาดมาจากโรงพยาบาลเอกชน (พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 75% ตามด้วยภาคตะวันออก 8%)

เทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามีอยู่ 3 กลุ่ม คือ โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเฉพาะทาง และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพราะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะส่งผลให้คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปจะอยู่ยากขึ้น

ดังนั้น เฮลท์แคร์ จึงเป็นเทรนด์เฉพาะทางที่กำลังมาแรง ธุรกิจการแพทย์เฉพาะทางจะกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเติบโตได้ดีกว่า 15% ต่อปี หากเทียบกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเทียบรายได้ระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นลูกค้าต่างชาติกับเน้นกลุ่มคนไทยแล้ว พบว่าช่องว่างของรายได้จะห่างกันเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ

ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ธุรกิจแห่งอนาคตของไทย?

แม้กลุ่ม Hospitality จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ในเมื่อการขยายตลาดในประเทศมีข้อจำกัด ทำให้ H2H Model หรือ Hospitality to HealthCare กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ

โดยควรเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น และผูกอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ไปกับการท่องเที่ยว ในนามของ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้

  • โฟกัสคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าจำนวน โดยเน้นไปที่กลุ่มต่างชาติเกษียณอายุ และกลุ่มคนทำงาน Digital Nomad (อาชีพยุคใหม่สำหรับคน Work From Anywhere) ประมาณการรายจ่ายต่อหัวอยู่ที่ 80,000-120,000 บาทต่อทริป
  • ออกแบบ Customer Journey และวางแผน Medical Tourism Supply Chain อย่างรอบด้าน เช่น ส่งต่อข้อมูลของเราให้กับบริษัททัวร์, แอปพลิเคชัน หรือ Medical Agent จัดเตรียมการเดินทางและการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทาง ต้องจัดเตรียมที่พักและโปรแกรมการท่องเที่ยวรองรับญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาด้วยกัน

ดังนั้น finbiz by ttb จึงระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า การวางโมเดลธุรกิจในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบ Subscription คือระบบสร้างรายได้หมุนเวียนเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้ารายได้ประจำให้กับธุรกิจ

โดยสร้างความต้องการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้ารับบริการ เช่น Tele-Medicine บริการการแพทย์ทางไกล รวมทั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับธุรกิจในระยะยาว และด้วยระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ โรงพยาบาลไทยยังมีมาตรฐานระดับโลก บุคลากรทางการแพทย์ที่เก่งและมีการบริการที่ดี จึงมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเป็น Medical Hub ได้อย่างแน่นอน 

ที่มา BrandInside