สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 90.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 88.8 ในเดือน ธ.ค. 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
- อุปสงค์ในประเทศขยายตัว โดยคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
- มาตรการ Easy E-receipt ในช่วง 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
- มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว วีซ่า-ฟรี (Visa-Free) ส่งผลให้ในช่วงเดือน ม.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.8%YoY
- ภาคการส่งออกฟื้นตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลก และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และอินเดีย
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลปํญหาหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ยังเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากอัตราค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมและค่าประกันต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรปใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,331 ราย ใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ในเดือน ม.ค. 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่
- เศรษฐกิจโลก (82.5%)
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (73.7%)
- ราคาน้ำมัน (50.1%)
- เศรษฐกิจในประเทศ (45.2%)
ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (41.5%) สถานการณ์การเมืองในประเทศ (35.0%)
ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 96.2 ในเดือน ธ.ค. 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบมาตรการพักชำระหนี้ SMEs
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดงที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมถึงกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) และความผันผวนของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง จากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนอ่อนแอ และความต้องการสินค้าจากไทยลดลง
ทั้งนี้ ทาง ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่
1) เสนอให้ภาครัฐเร่งหารือกับสายเรือเพื่อเพิ่มจำนวนเรือขนส่งสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและเรือตลอดจนขอให้มีการชี้แจงแผนการเดินเรือ และรายละเอียดในส่วนของค่าระวางเรือ (Freight rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน
2) เสนอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนไทย – เมียนมา รวมทั้งดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา
3) เร่งพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2567 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่มา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย