ส.อ.ท. ชง 3 ข้อเสนอ ธปท. ช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ส.อ.ท. ชง 3 ข้อเสนอ ธปท. ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดเฉพาะมูลค่าเงินสินเชื่ออุตสาหกรรม 2.29 ล้านล้านบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนั้น จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกัน

ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาในช่วงวิกฤต ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะปรับผลต่าง หรือ Spread ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กว้างมากขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางการเงินของธนาคาร และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% นั้น คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.75–1% จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนการให้สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าเงินสินเชื่อถึง 2.29 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.68 ของมูลค่าเงินให้สินเชื่อทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาระอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดการขอสินเชื่อสูง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ผลกระทบดังกล่าวอาจรวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการกู้ยืมเงินมาลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการหลังโควิด-19 โดยยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งหมด 3.49 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 19.35 ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อรวมทั้งหมดของประเทศ (18 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็น SMEs ในภาคการผลิต มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อกว่า 683,870 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.59 ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ทั้งหมด

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะต้องแบกรับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว จากราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งค่าขนส่งโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะต้องเตรียมรับมือกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.สามารถกำกับดูแลนโยบายด้านการเงินได้ดีและมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงปัจจัยหรือองค์ประกอบเฉพาะที่แตกต่างไปจากเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อของไทยเกิดจาก Cost push inflation จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ส่วนภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสาเหตุมาจาก Demand Pull inflation

จากความกังวลในเรื่องผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1) เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดุลยภาพของอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเหมาะสมต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไทย

2) ขอให้ ธปท.ควบคุมและดูแลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยให้ผลต่าง (Spread) ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ไม่กว้างเกินไป และควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและประชาชน

3) ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น มาตรการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ