คลินิกแก้หนี้ปรับเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย ก่อน 1 กันยายน 2565 และปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายใหม่
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่ทั่วถึง ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนยังแตกต่างกัน โดยบางกลุ่มยังผ่อนชำระได้น้อย จึงต้องใช้เวลานาน ในขณะที่บางกลุ่มสามารถผ่อนชำระเป็นจำนวนเงินสูงขึ้นได้ เพื่อให้หมดภาระหนี้เร็วขึ้น จากเดิม ที่โครงการคลินิกแก้หนี้กำหนดการปรับโครงสร้างหนี้โดยให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินต้นเป็นรายเดือน โดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี เป็นระยะเวลานานสูงสุด 10 ปี แต่เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะกับบริบทเศรษฐกิจมากขึ้น
คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) จึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ 2 เรื่อง ได้แก่
1. ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย จากเดิม ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้
2. ปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีเพียงทางเลือกเดียว เป็น 3 ทางเลือก ดังนี้
2.1 ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
2.2 ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี
2.3 ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
โดยให้มีผลสำหรับหนี้ใหม่ที่เริ่มผ่อนชำระในโครงการตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ลูกหนี้ควรพิจารณาทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของตนเอง โดยลูกหนี้สามารถชำระและปิดจบหนี้ได้เร็วกว่าเงื่อนไขที่ตกลงไว้ โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับใด แต่หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ก็อาจต้องออกจากโครงการไป
สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ สะสมจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวน 30,137 ราย รวม 90,539 บัญชี ภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 6,849 ล้านบาท โดยเฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีเจ้าหนี้ในโครงการ 2 ราย เงินต้นคงเหลือตามสัญญา 232,844 บาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เข้าโครงการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน จำนวน 26,943 ราย 78,744 บัญชี
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. ยังได้ร่วมกับกระทรวงการคลังแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งครอบคลุมหนี้ประเภทต่าง ๆ จากเจ้าหนี้เอกชน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมประมาณ 60 แห่ง มีกำหนดจะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 มุ่งช่วยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนที่เข้าข่ายโปรดติดตามข่าว และเตรียมตัวลงทะเบียนต่อไป
ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารโครงการ หรือติดต่อสมัครผ่านทางเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com LINE (@debtclinicbysam) และ Facebook (คลินิกแก้หนี้ by SAM) รวมทั้ง Call Center โทร. 1443 ได้ทุกวัน เวลา 9:00-19:00 น
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย