นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงานเสวนา “นโยบายพลิกโฉมท่องเที่ยวไทยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ Post-Pandemic” ว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นความหวังของประเทศไทย ในปีนี้ภาคท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด จำนวนนักท่องเที่ยวแตะ 10 ล้านคน โดยมองว่าปีหน้าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแสงสว่างท่ามกลางเหตุการณ์รุมเร้า (perfect storm) ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีขนาด 15% ของ GDP และมีแรงงานถึงเกือบ 10 ล้านคน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-12 ธ.ค. 65 จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยอยู่ที่ 10.3 ล้านคน เฉลี่ยวันละประมาณ 6-7 หมื่นคน โดยนักท่องเที่ยวหลักมาจากประเทศมาเลเซีย อินเดีย ลาว และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเข้ามาเพิ่มขึ้น
ดังนั้น คาดว่าปี 65 นักท่องเที่ยวเข้าไทย 11.5 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยถึงเดือนพ.ย. 65 อยู่ที่ประมาณ 175 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งมากกว่าปี 62 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด ดังนั้น คาดรายได้ปี 65 อยู่ที่ประมาณ 50% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 62 หรืออยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
“จำนวนนักท่องเที่ยวน้อย แต่รายได้สูง เนื่องจากตัวเลขช่วงไตรมาส 1/65 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้ามาไทยและพักยาว และใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ค่าใช้จ่ายต่อนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 77,000 บาท/คน ก่อนจะลดลงในไตรมาส 2 เหลือ 55,000 บาท/คน เนื่องจากมีแต่นักท่องเที่ยวระยะใกล้ ส่วนในประเทศเชื่อว่าได้อานิสงส์จากการที่หลายประเทศที่คนไทยชอบไปยังไม่เปิด เช่น ญี่ปุ่น ทำให้คนไทยเที่ยวในประเทศ ประกอบกับโครงการของรัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ส่วนปี 66 รัฐบาลตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวที่ 80% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 62 หรืออยู่ที่ประมาณ 2.38 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญ คือ หลังสถานการณ์โควิด ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวไม่อยากให้กลับไปเป็นแบบภาพเดิมๆ เช่นเรื่อง Mass Tourism หรือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพียงครึ่งหนึ่ง แต่รายได้ตามเป้า 80%
“ภาพการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งมิติของรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว จะเป็นแบบ V Shape ในแง่จำนวน ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว น่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลก ซึ่งขณะนี้ยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ดังนั้น ททท. ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติยืดระยะเวลาสำหรับ Visa ท่องเที่ยว จากเดิมใช้ได้ 30 วัน ขยายเวลาเป็น 45 วัน ขณะเดียวกัน VOA เดิมอยู่ได้ 15 วัน ขยายเวลาเป็น 30 วัน ซึ่งระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงการใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวจะอยู่ถึงแค่ 31 มี.ค. 66 ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มีความเห็นว่าจะขอต่อมาตรการให้ถึงสิ้นปี 66
ทั้งนี้ การเก็บค่าธรรมเนียม Visa ยังมีความจำเป็น แต่อยากให้ภาครัฐช่วยลดค่าธรรมเนียม Visa โดยอาจทำเป็นโครงการ Visa คนละครึ่ง เช่น ถ้านักท่องเที่ยวอินเดียเข้าไทยค่า VOA อยู่ที่ 2 พันบาท จะมีการคืนเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตัง 2 พันบาท ซึ่งนักท่องเที่ยวก็ต้องใช้เงินของตัวเอง 2 พันบาท ในการใช้คนละครึ่งใช้จ่ายในประเทศ ดังนั้น จะสร้างรายได้เข้าไทย 4 พันบาท
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการปี 66 ททท. มองว่ายังต้องทำระบบการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling) ต่อไป เนื่องจากคนตัดสินใจเดินทางโดยเลือกจากข้อจำกัดที่น้อยที่สุด เช่น การขยายเวลาพำนักให้นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวมาไทยด้วยความคาดหวัง จึงอยากเห็นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Shape supply) ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มที่มาพำนักนาน กลุ่มที่มาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือกลุ่มที่มาฮันนีมูน เป็นต้น ดังนั้น จะต้องมีแนวความคิดใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“เรื่องการท่องเที่ยวไทยคือต้องแข่งขันกับตัวเอง โอกาสของไทยสูงมาก แต่ปัญหาคือการปรับตัวต่อการกลับมาของอุตสาหกรรม ผู้ที่ประกอบอาชีพด้านท่องเที่ยวต้องออกจากงานในช่วงโควิด เช่น พนักงานโรงแรม เชฟ หรือไกด์นำเที่ยว ดังนั้น ต้องมีการ Reskill-Upskill หาแรงงานที่มีคุณภาพเพิ่ม เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมความคาดหวัง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
สำหรับตลาดการท่องเที่ยวของไทยที่น่าสนใจในปี 66 ได้แก่
– ประเทศจีน
จีนเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย ถึงแม้ว่าจีนยังมีมาตรการเข้มงวดเรื่องโควิด แต่ยังคงมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าไทยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคน โดยส่วนใหญ่มาจากการที่จีนเริ่มผ่อนปรนให้ผู้ที่มีความจำเป็นทางธุรกิจ นักเรียน และล่าสุดเริ่มมีกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เข้ามามากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เยือนประเทศไทยเมื่อช่วงประชุม APEC ไทยได้มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า มีการเสนอข่าวเชิงบวกผ่านสื่อต่างๆ มากกว่า 4 หมื่นบทความ สร้างการรับรู้เรื่องประธานาธิบดีจีนเยือนไทยประมาณ 1 พันล้านคน/ครั้ง ซึ่งถือเป็นการสร้างอานิสงส์เชิงบวกต่อการท่องเที่ยวไทย
จากเดิมประเมินว่าจีนจะเปิดประเทศหลังจากเดือนมี.ค. 66 เป็นต้นไป เนื่องจากคาดว่าจะมีความชัดเจนจากการประชุม 2 สภา แต่เนื่องจากล่าสุดมีประชาชนออกมาประท้วงเรื่องมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด จึงเริ่มเห็นการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณดี ดังนั้น จึงคาดการณ์ใหม่ว่า ช่วงตรุษจีน หรือวันที่ 22 ม.ค. 66 อาจจะเห็นสัญญาณเชิงบวกบางอย่างจากจีน
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่านโยบายของจีนจะไม่มีการประกาศล่วงหน้า ดังนั้น อาจเห็นการเปิดประเทศแบบค่อยๆ เปิดเป็นขั้นตอน อาจเปิดบางมณฑล บางพื้นที่ และอาจอนุญาตให้เดินทางไปบางประเทศที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหวังว่าลึกๆ แล้วไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่จีนอนุญาตเดินทาง
“มีการสำรวจความเห็นของผู้เดินทางในจีน พบว่า ไทยถูกเลือกให้เป็น Top of mind มาตลอด เนื่องจากคนจีนชอบ 1. อาหารไทย 2. ทะเลไทย และ 3. ความสัมพันธ์ไทยจีนพี่น้องกัน ททท. ยังรอนักท่องเที่ยวจากจีน แต่จะไม่คอย โดยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ด้วย” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
– ประเทศอินเดีย
พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอินเดีย มีความแตกต่างจากช่วงสถานการณ์โควิด คือ ก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวจากอินเดีย จะเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจัดงานแต่งงาน และฮันนีมูน เช่น เดินทางแบบเหมาเครื่องบิน และปิดโรงแรมจัดงาน ซึ่งมีรายจ่ายค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจากอินเดียเดินทางมาแบบกลุ่มเล็ก แบบครอบครัวมากขึ้น อานิสงส์จากการที่ไทยมี Visa on Arrival (VOA) และลดข้อจำกัดเรื่องการบิน
สำหรับจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวอินเดีย อยู่ที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และกระบี่ และยังพบว่า คนอินเดียมีพฤติกรรมชอบความสนุกสนาน เช่น เรื่อง Soft power ทั้งมวยไทย และอาหาร สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากอินเดียอยู่ที่ 876,734 คน โดยคาดว่าปีหน้าจะเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นแตะล้านคนได้
“นักท่องเที่ยวอินเดีย อยากได้เรื่องการลดค่าธรรรมเนียม Visa ซึ่งเข้าใจว่าเวลาเดินทางเข้ามาเป็นครอบครัว 3-4 คน ต้องจ่าย VOA คนละ 2 พันบาท รวมเป็น 8 พันบาท เขาจึงมองว่าเงินตรงนี้สามารถนำไปใช้จ่ายในประเทศได้ดีกว่าหรือไม่ ไม่อยากมองว่าอินเดียเป็นตลาดทดแทนตลาดจีน แต่มองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ไทยบรรลุเป้านักท่องเที่ยวปี66 ที่ไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
– ประเทศรัสเซีย
ตลาดนักท่องเที่ยวจากรัสเซียในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ถือเป็นตลาดหลักโดยมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเกือบ 2 ล้านคน เนื่องจากคนรัสเซียหนีจากฤดูหนาว อย่างไรก็ดี เนื่องจากมาตรการการคว่ำบาตร (sanction) ของประเทศฝั่งตะวันตก ทำให้สายการบินของรัสเซียไม่สามารถบินได้ ดังนั้น มีเครื่องบินสัญชาติรัสเซียเท่านั้นที่สามารถบินได้ ปัจจุบันรัสเซียเพิ่งกลับมาเริ่มบิน ช่วงปลายเดือนต.ค. 65 ไทยจึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวที่มีไฟลท์บินตรงจากมอสโควมาลงที่ภูเก็ต และเริ่มมีสายการบินเช่าเหมาลำ (Charter flight) เข้ามาลงที่อู่ตะเภามากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยอยู่ที่ประมาณ 5 พันคน/วัน
ขณะเดียวกัน รัสเซียจะมีการเพิ่มไฟลท์บินอีก 4 เมืองหลัก โดยมีจุดหมายบินเข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ตด้วย สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-12 ธ.ค. 65 อยู่ที่อันดับที่ 11 เข้าไทยประมาณ 23,000 คน
– ประเทศฝั่งยุโรป
ยุโรปได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานสูง ซึ่งประชาชนในประเทศฝั่งยุโรปจำเป็นต้องใช้ในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ ส่งผลให้เงินเฟ้อในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้น เช่น ตุรกีสูงถึง 80% หรือฮังการีที่พุ่งสูง 1-2 เท่า ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโอกาสของไทยในการทำการตลาด โดยเฉพาะประเทศที่มีอากาศหนาวมาก ททท. จึงได้ออกแคมเปญ ‘Thailand always warm’ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวเมืองหนาวมากขึ้น
“การท่องเที่ยวของทั่วโลกเริ่มฟื้น แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องสายการบินซึ่งฟื้นตัวช้า ททท. จึงได้มีการพูดคุยกับสายการบินต่างๆ ให้เพิ่มที่นั่ง และเพิ่มความถี่ในการบินเข้าสู่ไทยมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตั้งเป้านำนักท่องเที่ยวกลับมาอย่างน้อย 80% ของนักท่องเที่ยวปี 62 นอกจากนี้ จะทำการตลาดว่าไทยเป็นประเทศที่สามารถเดินทางมาได้ตลอดปี ไม่เพียงแต่ช่วงฤดูหนาวของยุโรปเท่านั้น โดยจะมีการเพิ่มจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินมากขึ้น” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
– ประเทศญี่ปุ่น
คนไทยชอบไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ททท. มีกลยุทธ์ว่า คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมากเท่าไร ต้องนำนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเข้ามามากเท่านั้น ซึ่งสถิติปี 62 มีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน คือ คนไทยไปญี่ปุ่นประมาณ 1.7-1.8 ล้านคน คนญี่ปุ่นมาไทยประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่ง ททท. ต้องรักษาส่วนต่างให้ได้มากที่สุด
“คนไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่นช่วงที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศแรกๆ ช่วงเดือน ต.ค. คือคนไทยที่ถือตั๋วเดิม ดังนั้น สถานการณ์ที่คนญี่ปุ่นอยากมาไทยแต่มาไม่ได้ เพราะไม่มีไฟลท์ ปีหน้าน่าจะดีขึ้น ส่วนตอนนี้ก็ยังพอมีที่นั่งอยู่บ้าง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
– ประเทศแถบตะวันออกกลาง
นักท่องเที่ยวที่มาจากตะวันออกกลาง จะเข้ามาเติมเต็มช่วงที่นักท่องเที่ยวแถบยุโรปกลับไป โดยเฉพาะช่วงหลังรอมฎอน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางไม่รวมซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ประมาณหลักแสนคน ซึ่งถือว่าไม่เยอะมาก แต่หลังจากรัฐบาลมีการฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้ ซาอุฯ เป็นตลาดท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เข้าไทยเป็นอันดับที่ 22 ประมาณ 91,707 คน ทำให้ซาอุฯ เป็นประเทศที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งเชื่อว่าปี 66 จะเห็นนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ แตะ 2 แสนคนแน่นอน
“ททท. จะตั้งใจเข้าไปทำการตลาดในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางมากขึ้น ไม่เฉพาะซาอุฯ เท่านั้น โดยททท. พร้อมเข้าไปตั้งสำนักงานที่ประเทศต่างๆ มากขึ้น” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
– ประเทศอินโดนีเซีย
นักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียติด 20 อันดับแรก โดยอยู่ที่ประมาณ 201,000 คน ซึ่งททท. ต้องการจับตลาดบน เนื่องจากมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวคล้ายคนไทย ทานอาหารรสจัด และชอบความสนุกสนาน
– ไทยเที่ยวไทย
ททท. พยายามสร้างไทยเที่ยวไทยให้เป็นขาที่มั่นคง มีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ ถึงแม้ไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแต่ยังมีนักท่องเที่ยวในประเทศอยู่ ททท. จึงพยายามตรึงรายได้จากไทยเที่ยวไทยให้อยู่ที่ 36% อย่างไรก็ดี คนไทยยังเที่ยวไทยน้อย หรือไม่ถึง 3 ครั้ง/คน โดยพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย คือ เที่ยวเฉพาะช่วงวันหยุดยาว วันหยุดสุดสัปดาห์ เท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์