ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีห่วง Bond Yield ไทย วิ่งแรง ทำต้นทุนภาคธุรกิจพุ่ง จับตาปัญหาราคาพลังงานโลก ทำไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น กดดันเงินบาทอ่อนค่า บีบเงินเฟ้อเร่งตัวท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอ สร้างปัญหา Stagflation แบบอ่อนๆ เหตุรายจ่ายเพิ่มสูงกว่ารายได้ กระทบการบริโภคเอกชน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นแรงเทขายของนักลงทุนในตลาดพันธบัตร (Bond) ที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) รุ่นอายุ 2 ปีของไทย พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.876% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 35 เดือน หรือเกือบๆ 3 ปี เช่นเดียวกับ Bond Yield รุ่นอายุ 10 ปี ที่ขยับขึ้นมาอยู่บริเวณ 2.491% เป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า สาเหตุที่ Bond Yield ของไทย ปรับขึ้นค่อนข้างแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทิศทางดอกเบี้ยโลกที่เข้าสู่ภาวะขาขึ้นเต็มตัว ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังมีแนวโน้มทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายพันธบัตรไทยออกมาจำนวนมาก
“เทรนด์ดอกเบี้ยโลกตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นขาขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ทั้งดอกเบี้ยของ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ECB (ธนาคารกลางยุโรป) และ BOE (ธนาคารกลางอังกฤษ) จะมีเพียง BOJ (ธนาคารกลางญี่ปุ่น) ที่ยังไม่ชัดว่าจะเริ่มทำนโยบายการเงินตึงตัวเมื่อไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาพ Policy Divergence (นโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกัน) มากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะมีแรงขายจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในประเทศที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น”
นริศกล่าวด้วยว่า Bond Yield ที่ปรับขึ้นแรงตรงนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่ระดมทุนผ่านตลาด Bond จะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่นิยมออกหุ้นกู้อายุ 3-5 ปี ขณะที่ Bond Yield รุ่นอายุ 2 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 0.876% เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี
ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาด Bond ซึ่งช่วงนี้มูลค่าสุทธิต่อหน่วยลงทุน (NAV) อาจติดลบจากราคาพันธบัตรที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมมากนัก เพราะไม่มีเหตุการณ์ที่นักลงทุนพากันไปไถ่ถอนหน่วยงานทุน (Fund Run) เหมือนช่วงแรกๆ ที่เกิดวิกฤตโควิดในปี 2022
นอกจากนี้การเทขายพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทด้วยบางส่วน ซึ่งล่าสุดเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องมาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 33.68 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นด้วย ทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิมีมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย ประเด็นนี้ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นด้วย กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และการอ่อนลงของค่าเงินบาทก็ยิ่งทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้นจากราคาพลังงานตลาดโลกที่แปลงค่ากลับมาเป็นเงินบาทมีราคาเพิ่มขึ้น
“เงินบาทที่อ่อนค่าลง ในขณะที่ราคาพลังงานทรงตัวระดับสูง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเรามีโอกาสที่จะขาดดุลมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งกดดันให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่อง ทีนี้คงต้องติดตามดูว่าดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะขึ้นแรงแค่ไหน หากปรับขึ้นแรงกว่าที่ตลาดคาดก็มีโอกาสที่เราจะเห็นเงินบาทพุ่งแตะระดับ 35 บาทก็เป็นไปได้”
นริศกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเลย แม้ว่าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีจะประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 3% แต่ก็เป็นตัวเลขที่ปรับลดจากระดับ 3.9% อีกทั้งยังเป็นการเติบโตจากฐานที่ติดลบ ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะขึ้นไปสูงกว่าระดับ 5% ตัวเลขเหล่านี้กำลังบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเกิดภาวะ Stagflation แบบอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว
“การที่เงินเฟ้อสูงระดับ 5% แต่เศรษฐกิจเติบโตได้เพียง 3% สะท้อนว่า คนมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันการบริโภคในประเทศ จึงต้องจับตาดูว่าการบริโภคในประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไปท่ามกลางปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น”
ที่มา THE STANDARD