แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญ และมีเป้าหมายจะเป็นครัวของโลก แต่ไทยก็ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและถี่มากขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหาร และจำเป็นต้องวางแผนรับมือ
นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ประจำกรุงโรม เปิดเผยว่า สงคราม รัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้ทุกเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ ต้องหารือเรื่อง Food Security เช่น สํานักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนิวยอร์ก( UN New York) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ( FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) องค์การ การค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก( World Bank)
โดยทุกเวทีเรียกร้องให้ยุติสงคราม เพราะ ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งจะผลักดันให้โลกเข้าสู่ภาวะสินค้าราคาแพง ผลผลิตไม่เพียงพอ และประชากรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ในส่วนของไทยอาจต้องหันมาใช้วัตถุดิบและปัจจัยต่างๆที่ผลิตได้ในประเทศมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา การนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาแพง เช่นปุ๋ยเคมี ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถใช้มันสำปะหลัง หรือข้าวแทน
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความพอพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ และมีผลผลิตส่วนเกินส่งออกไปขายยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงอาหารเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในด้านความมั่นคงอาหารของประเทศ เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ความสามารถในการซื้อหาอาหาร ทั้งรายได้มากพอที่จะซื้อหาอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยได้อย่างพอเพียงตลอดเวลา รวมถึงราคาอาหารที่อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับรายได้
“ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความมั่นคงด้านรายได้และระดับของรายได้ มีส่วนสำคัญในการเข้าถึงอาหารของคนไทย ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของคนในประเทศ หากปริมาณการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ การลงทุน และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินทุนหมุนเวียนในระบบที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ “
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น ผลกระทบต่อการระบาดของโควิด 19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลต่อระดับราคาอาหาร เนื่องจากปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือน้ำมันมีการปรับตัวของราคาสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงรัสเซียและยูเครน เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชที่สำคัญในตลาดโลก ทำให้ระดับราคาอาหารเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การรับมือกับปัญหานี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนการเข้าถึงอาหารของเกษตรกรผ่านการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นการสร้างการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในท้องถิ่นและลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลจิสติกส์อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด 19 สร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการรับมือกับสภาวะวิกฤติอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯได้กำหนด ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) โดยหน่วยงานในระดับพื้นที่ทำให้ภาครัฐมีข้อมูลคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรรายชนิดสินค้าที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีเพาะปลูกล่วงหน้า ในแต่ละจังหวัด อำเภอ และตำบล รวมทั้งจะทำให้ทราบปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดด้วย
ซึ่งจะช่วย สนับสนุนการวางแผนการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะวิกฤติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะมีอาหารเพียงพอและสามารถเข้าถึงอาหารได้ และ เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นสำหรับการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านอาหารทั้งระบบ ให้เป็นต้นแบบของการจัดระบบการบริหารจัดการข้อมูลด้านอาหารตลอดห่วงโซ่ เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลการแปรรูป
การตรวจสอบย้อนกลับ คุณภาพและความปลอดภัย การกระจายสินค้า ความต้องการและระบบตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต
อีกทั้ง การประชุมเอเปค ในเดือน พ.ย. นี้ จะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นทางการเมืองในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค สาระสำคัญประกอบด้วย ด้านความปลอดภัยอาหาร เน้นการผลิตที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และสุขอนามัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้ามาที่ผู้ผลิตที่ต้นทางได้
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร ด้วยสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการผลิตที่ยั่งยืน และใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่า
ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงตลาด
ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้กรอบเอเปค ซึ่ง สศก. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤษภาคม 2565 ได้หารือ ถึง “แผนปฏิบัติการสำหรับกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบทและเขตเมือง” ของคณะทำงานหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยุวเกษตรกร องค์การระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ มูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารแห่งภาคพื้นอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
โดยไทยได้เผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ การมีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ให้เป็นที่รู้จัก ในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยด้วย BCG Model เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร ของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง
ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน อันมีความสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคให้ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในบริบทต่างๆ 4 ด้านหลักสำคัญ ประกอบด้วย
1. ด้านการดำเนินการตามตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัดที่ 2.4.1 ภายใต้โครงการความร่วมมือของ ไทย-FAO ฉบับปี 2560-2564 ด้านการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการสำหรับการวัดและการติดตามความก้าวหน้าในการเลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และโครงการสนับสนุนและส่งเสริมการสำรวจการเกษตรแบบยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน (SAS-PSA)
2. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและภัยพิบัติ ได้แก่ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวความยั่งยืนในพื้นที่สูง และ การส่งเสริมบทบาทของกลไกสำรองข้าวเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสินค้าข้าว
3. ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในเขตเมืองและเขตชนบท โดยไทย นำเสนอการพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) ทางด้านเกษตรดิจิทัลภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต ลดต้นทุน ลดความสูญเสียของผลผลิตเป็นการยกระดับมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาการเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มไปถึงผู้บริโภค
ขณะที่ จีน ได้ร่วมนำเสนอนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ชนบท ได้แก่ การปรับโครงสร้างกลไกองค์กรเกษตรเพื่อให้เกิดมาตรฐาน การสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งเสริมการบูรณาการห่วงโซ่อุตสาหกรรม และช่วยเกษตรกรสร้างรายได้จากเกษตรกรรมยั่งยืนและ
4. ด้านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศสมาชิก ประกอบด้วย เกาหลีใต้ จีนไทเป สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย ได้นำเสนอการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในภาคการผลิตและการบริโภค เช่น เกษตรกรรมแม่นยำ การเกษตรแนวตั้ง อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง โดรน ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ตลอดจนลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารร่วมกัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ