ภาพโดย Vicki Hamilton จาก Pixabay
ทำความรู้จักธุรกิจมาแรง “ฟู้ดทรัค” (Food Truck) รถให้บริการอาหาร หรือครัวเคลื่อนที่ ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก-ช่องทางสร้างรายได้ ผู้ประกอบการรายย่อยไทย
“ฟู้ดทรัค” (Food Truck) รถให้บริการอาหาร หรือครัวเคลื่อนที่ ช่องทางสร้างรายได้ ผู้ประกอบการรายย่อยไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามเทรนด์การค้าที่น่าสนใจ ของรถให้บริการอาหารในรูปแบบธุรกิจฟู้ดทรัค หรือครัวเคลื่อนที่ และปัจจุบันฟู้ดทรัคกลายเป็นเทรนด์ของการทำธุรกิจด้านอาหารที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่น และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของวิถีชีวิตคนเมืองได้เป็นอย่างดี
ประเทศเอเชียที่ธุรกิจ “ฟู้ดทรัค” ได้รับความนิยม
ทั้งนี้ หนึ่งในประเทศเอเชียที่ธุรกิจฟู้ดทรัคได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ เกาหลีใต้ ที่นอกจากจะมีรถบริการอาหารฟู้ดทรัคตามสถานที่สำคัญในย่านกลางเมืองแล้ว ยังมีการนำรถอาหารเคลื่อนที่ไปให้บริการกลุ่มแฟนคลับที่ต้องการสนับสนุนศิลปิน (ฟู้ด ซัพพอร์ต) จึงทำให้ธุรกิจฟู้ดทรัคเติบโตอย่างมาก ปัจจุบัน กรุงโซลมีจำนวนฟู้ดทรัค 424,000 คัน หรือร้อยละ 32 ของฟู้ดทรัคทั่วประเทศ
จากข้อมูลของ TBIC Food Truck Thailand พบว่า ตลาดธุรกิจฟู้ดทรัคของไทยมีการเติบโตดี โดยในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีฟู้ดทรัค ประมาณ 2,800 คัน และในปี 2565 ประมาณการจำนวนฟู้ดทรัคทั้งประเทศ 3,100 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
ความน่าสนใจของธุรกิจ “ฟู้ดทรัค”
อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของธุรกิจฟู้ดทรัค คือ ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก สามารถเคลื่อนย้ายการให้บริการไปในสถานที่ต่างๆ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น จะเห็นได้จากการมีรถฟู้ดทรัคตามสถานที่สำคัญ หรือ การให้บริการฟู้ด ซัพพอร์ต ที่นำรถฟู้ดทรัคส่งไปให้กำลังใจสนับสนุนศิลปินดาราที่มีในเกาหลี เริ่มปรากฏในไทยแล้ว
“ฟู้ดทรัค” ทางเลือกผู้ประกอบการรายย่อย
ดังนั้น ธุรกิจฟู้ดทรัค จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการรายย่อย ที่ประสงค์เริ่มต้นการเป็นเจ้าของกิจการ โดยภาครัฐอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับฟู้ดทรัคด้วย
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนผู้ที่ประสงค์จะเปิดธุรกิจดังกล่าว โดยเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้า พร้อมกับผลักดันให้สามารถใช้ธุรกิจฟู้ดทรัคเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย (MSME) ให้ง่ายยิ่งขึ้น
ที่มา TNN