เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดการประชุมเผยแพร่สรุปการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP 15) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง “COP15 Debriefing: Towards a Nature-Positive World” เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดเนื้อหาสาระสำคัญจากการประชุม COP 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้น ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 7 -19 ธันวาคม 2565 และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในทุก ๆ ระดับ และสร้างความเข้าใจในวงกว้าง รวมถึง ทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในอนาคต
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของการถ่ายทอดผลลัพธ์จากการประชุมฯให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล(Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework)ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกซึ่งมีการรับรองในการประชุม CBD COP 15 ช่วงที่ 2 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลกแทนที่แผนกลยุทธ์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 2011-2020 และเป้าหมายไอจิที่สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 2020 โดยจะต้องดำเนินการจัดทำแผนและกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศต่อไป
การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 เป็นการประชุมเพื่อกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก มุ่งสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ และพิธีสารที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับสูงระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2565 และแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในบูรณาการกรอบงาน คุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 และมุ่งเน้นการสร้างสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง BCG Model
โดยใช้ข้อได้เปรียบที่มีทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพสูงในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (value-based economy) รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ตลอดจนการแสดงความมุ่งมั่นด้านการอนุรักษ์ความหลากหลาย ทางชีวภาพของประเทศไทยในการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่ที่มีมาตรการอนุรักษ์อื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ (OECMs) ให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 ร่วมกับประชาคมโลกโดยมุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่ทางทะเล และชายฝั่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สผ.ชี้มีเวลาแค่ 8 ปี ต้องร่วมมือกัน
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Tackling Biodiversity & Climate Crises Together” กล่าวว่า สผ.ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเกี่ยวกับ COP15 ว่า เป้าหมายที่ระดับโลกให้ความสำคัญ ทั้งการอนุรักษ์ ปกป้อง การสูญเสียทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของประเทศไทยเพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและมีส่วนร่วมกับโลก จึงได้จัดงานในวันนี้ขึ้น
การประชุม COP15 ใช้ชื่อว่าคุนหมิง-มอนทรีออล เพราะเดิมควรจะจัดทึ่คุนหมิง แต่จัดไม่ได้เพราะจีนไม่เปิดประเทศจึงจัดออนไลน์ลิ้งค์ไปที่มอนทรีล ทั้งนี้มีการเจรจานานร่วม 4 ปีกว่าจะได้ข้อตกลงเป้าหมายในปี 2020 และมีการรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework)ปลายปี 2565 ดังนั้นจึงมีเวลาเหลือ 8 ปีที่จะบรรลุเป้าหมายทุกอย่างที่อยู่ในคุนหมิง-มอนทรีออล 2030
“นี่คือสารหลักที่ผมอยากจะสื่อว่า ต่อไป การคิด ขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องนี้ คือ ต้องทำเร็วเพื่อชดเชยสองปีที่หายไป ดังนั้นต้องร่วมมือกัน”
กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ค.ศ. 2030 และการดำเนินงานภายใต้ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งเเวดล้อมอื่น ๆ สำหรับเป็นแผนการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ เพื่อนำไปสู่การบรรลุพันธกิจ ปี ค.ศ. 2030
ดร.พิรุณ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) และความหลากหลายทางชีวภาพมีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งการทำงานด้านความหลากหลายของระบบนิเวศนอกจากจะมุ่งเน้นเฉพาะในประเทศแล้วต้องตอบโจทย์ระดับโลกได้ด้วย เชื่อมโยง SDG และอนุสัญญาอื่นๆด้วย
ก่อนการประชุม COP 15 ไทยได้เข้าร่วม High Ambition Coalition(HAC)for Nature and People โดยมีเป้าหมายคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลให้ได้ 30×30 ภายในปี 2030 ปัจจุบันไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 5-7% ทางบก 15% ดังนั้นยังต้องทำอีกมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
สำหรับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมี 23 เป้าหมายและ 4 เป้าประสงค์ซึ่งใน 4 เป้าประสงค์เป็นสิ่งที่ไทยทำอยู่แล้วพอสมควร ซึ่งส่งผลให้ไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 5-7% และพื้นที่คุ้มครองทางบกอีก 15%
โดย 4 เป้าประสงค์ ประกอบด้วย ข้อแรก Nature preservation ข้อสอง Ecosytem Service Conservation ข้อสาม Access and Benefit Sharing และข้อสี่ Financing and Means of Implementation
ดร.พิรุณ กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องมีเครื่องมือ คือ กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์ จากทรัพยากรชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ร่างกฎหมายฉบับนี้มี 8 หมวด ตั้งแต่กรรมการลงไปถึงระดับท้องถิ่น การอนุรักษ์ฟื้นฟู การแบ่งปันผลประโยชน์
ดึงภาคธุรกิจบริหารจัดการ 23 เป้าหมายร่วมกับภาครัฐ
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายสรุปผลการประชุม COP 15 และการถ่ายทอดสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ (From COP 15 to Thailand’s Biodiversity Action) โดย ดร. จิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และ ดร. วิเทศ ศรีเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้โครงการ Climate, Coastal and Marine Biodiversity (CCMB project) ที่ สผ.ดำเนินการร่วมกับ GIZ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติในระยะยาว ให้สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
ดร.จิตตินันท์กล่าวว่า ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 นอกจากมีในระดับผู้นำ ระดับเจ้าหน้าที่แล้วยังมีการประชุมระดับทวิภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเยาวชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับผลการประชุมที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มนโยบาย กลุ่มวิทยาศาสตร์ และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งในกลุ่มนโยบายนั้นกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลมุ่งเน้นให้การขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กัน การคุ้มครองพื้นที่ OECMs(Other Effective Area-Based Conservation Measures) รวมไปถึงขยะมลพิษทางทะเล
ส่วนกลุ่มวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องชีววิทยาสังเคราะห์ต่างๆ เรื่องสุขภาพ เรื่องใหม่ๆที่เกิดขึ้นในโลก เรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Oganisms: LMOs) ขณะที่ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานนั้นคือ แหล่งเงินทุน การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเข้ามาบริหารจัดการร่วมกับภาครัฐ ทั้งการขับเคลื่อนและการจัดหาแหล่งเงินทุนต่อไป
วิสัยทัศน์ของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลปี 2050 คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยมี 4 เป้าประสงค์คือ 1)เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ 2)ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ไ้ดรับจากธรรมชาติ 3)แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม และ 4) แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางการดำเนินงานอื่นๆเพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ปี 2050
สำหรับปี 2030 มี 23 เป้าหมาย ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มที่ 2 การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และกลุ่มที่ 3 เครื่องมือการแก้ปัญหาการดำเนินงานและกรผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสหลัก
ดร.จิตตินันท์ให้รายละเอียดในกลุ่มที่ 1 ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพว่า เป้าหมายส่วนใหญ่คือ มุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ โดยมีเป้าหมาย 3 การเพิ่มพื้นที่ ทางบก แหล่งน้ำในแผ่นดิน ทะเลและชายฝั่งที่มีมาตรการอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 เป็น Flagship ที่สำคัญ ขณะที่เป้าหมาย 5-8 มุ่งเน้นการลดภัยคุกคามต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ โดยมีเป้าหมายที่ 7 ลดมลพิษ ขยะพลาสติก ธาตุอาหารส่วนเกินสารกาจัดศัตรูพืชอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็น Flagship ที่สำคัญ
กลุ่มที่ 3 เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ แหล่งเงินทุน เป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ในเป้าหมายที่ 15 คือมีมาตรการส่งเสริมติดตามการดำเนินงานของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 18 ขจัดแรงจูงใจและเงินอุดหนุนที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับการถ่ายทอดกรอบงาน จากระดับโลกสู่ระดับประเทศ ดร.จิตตินันท์กล่าวว่า จะมีเป้าหมายระยะยาวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คือตั้งแต่ปี 2566-2580 ถ่ายทอดออกมาเป็นแผนระยะ 5 ปี แผนปฏืบัติการ 2566-2570 รวมทั้งสอดคล้องกับ SDG และ BCG ตลอดจนกำหนดแนวทางการปฏิบัติ การประเมินและตัวชี้วัด
ส่วนผลของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และแผนปฏฺิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biodiversity Strategies and Action Plans-NBSAP) ฉบับที่ 4 ที่มี 25 เป้าหมายนั้น 80% บรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด แต่ยังต้องเพิ่มความพยายามเพื่อให้เป้าหมายท้าทายมากยิ่งขึ้น ขณะที่ 20% มีความก้าวหน้าแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด
ดร.จิตินันท์กล่าวถึงการเตรียมการสำหรับการจัดทำ NBSAP ฉบับที่ 5 ว่า จากการวิเคราะห์ช่องว่างและความต้องการด้านวิชาการและความรู้ และด้านการบริหารจัดการและองค์กร พบว่าในด้านวิชาการและความรู้ เรื่องแรกที่มีความสอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล คือ การคุ้มครองและฟื้นฟู การลดภัยคุกคาม การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เกษตร ป่าไม้ ประมง ชายฝั่งทะเล และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์มูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพและบริการของระบบนิเวศ (การวางแผนเชิงพื้นที่ทั้งบนบกและชายฝั่งทะเล (spatial planning) พื้นที่คุ้มครองตามกฎหมายและพื้นที่คุ้มครองในลักษณะอื่น (Other Effective Conservation Measures) เช่น ป่าชุมชน
ส่วนในด้านการบริหารจัดการและองค์กร ได้แก่การสร้างความรู้และความตระหนัก รวมถึงการศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการป้องกันสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน กลไกด้านการเงินเพื่อสนับสนุนงานที่เกี่ยวช้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมผลทางบวกในการอนุรักษ์คุ้มครองฯ และกฎระเบียบการอนุญาตการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ของทรัพยากรชีวภาพช่องว่าง ความต้องการและโอกาสของประเทศ ด้านการบริหารจัดการและองค์กร
3 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ
ดร. วิเทศ ศรีเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะมุ่งสู่กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลอยู่บนพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งสำหรับไทยมองที่ช่องว่าง ความต้องการ และโอกาส แต่การดำเนินงานตามแผนฉบับที่ 4 ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ซึ่งก็รับรู้ถึงอุปสรรค และได้ประเมินสื่งใหม่ที่เกิดขึ้นในการประชุมCOP 15 ในประชาคมโลกหลายเรื่องที่ NBSAP ฉบับที่ 4 ยังไม่เน้นมากนัก จึงได้นำสิ่งเหล่านี้รวมทั้งประเด็นที่ได้มีการรับรองใน COP 15 มาใช้
ดร.วิเทศกล่าวว่า วิธีการจากนี้ไป โดยหลักคือทบทวนเป้าหมายและตัวชีวัดของประเทศมองในบริบทไปข้างหน้าระยะยาว 2590 สอดคล้องวิสัยทัศน์ 2050 ส่วนในระยะสั้นสิ่งที่ยังไม่คืบหน้าในแผนฉบับที่ 4 ก็จะนำมาผนวกไว้ใน แผนบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2566-2570) ขณะที่ในระยะยาวมองในบริบทของโลกก็ต้องมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2590)
นอกจากนี้ต้องมีกลไกสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งต้องมีแผนงานการประสานการดาเนินงานของแผนฯ ความหลากหลายทางชีวภาพกับแผนอื่นๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และต้องชี้ให้เห็นว่าต้องมีความร่วมรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของประเทศ
- GCNT Forum 2022 ภาคธุรกิจแสดงพลังรับมือวิกฤติโลกร้อน-ความหลากหลายทางชีวภาพ เร่งปกป้องระบบนิเวศ
ดร.วิเทศยกตัวอย่าง กลุ่มที่ 1 ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ในเป้าหมายที่ 3 ของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล
คือ การพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบกแหล่งน้ำในแผ่นดิน ทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่อนุรักษ์ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพอื่นภายในปี 2030 ซึ่งเหลือเวลาอีก 8 ปีดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมและดำเนินงานอย่างจริงจัง แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายความสำเร็จมาก แต่จะเป็นไปได้ หากแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2566-2570 และแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2566-2590 ก้าวหน้าตามแผนงาน
การดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองซึ่งมีความสำคัญให้ประสบความสำเร็จนั้น ดร.วิเทศกล่าวว่า ควรพิจารณา ว่าพื้นที่นั้นควรมีประโยชน์ต่าง ๆ ได้แก่
-
- 1)ต้องสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชน
-
- 2)ควรมีคุณลักษณะที่เป็นตัวแทนสำคัญของระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เน้นระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และทะเล(ถ้ามีรวมระบบนิเวศบนบก ด้วย)
-
- 3)เป็นพื้นที่ระบบนิเวศที่มีสถานภาพสมบูรณ์ ไม่ขาดแบ่งจากการพัฒนา สาหรับบริเวณชายฝั่งและทะเล (ถ้ามี รวมระบบนิเวศบนบก ด้วย)
-
- 4)ต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
- 5)เป็นพื้นที่ที่กำหนดขึ้นและบริหารจัดการสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงสำคัญบางคน
นอกจากนี้เมื่อวิสัยทัศน์ของโลกปรับมุมมองของไทย ไทยก็ควรปรับให้สอดคล้องเช่นกัน โดยวิสัยทัศน์ 2050 ของประเทศไทย คือในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ.2593 ประชาชนและธรรมชาติดำรงอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และไปสู่ความยั่งยืนความหลากหลายทางชีวภาพมีคุณค่า ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เราสามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เพื่อประโยชน์ของทุกคน
แม้วิสัยทัศน์จะยาวไกล แต่พันธกิจ 2030 ของประเทศไทยในอีก 8 ปีข้างหน้า คือ ในปีค.ศ.2030(พ.ศ.2573)ประเทศไทยก้าวหน้าบรรลุแผนที่นำทางไปสู่เป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพตามแผนบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570)และก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ พ.ศ.2566-2590)เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลต่อการอนุรักษ์
ดร.วิเทศกล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติของประเทศไทยเป็นแผนที่นำทางระยะยาวที่ใช้ดำเนินงานภายในประเทศและให้สอดคล้องกับเป้าหมายพันธกิจและวิสัยทัศน์ความหลากหลายทางชีวภาพของอนุสัญญาฯและของประเทศไทยด้วยจะให้เป็นกรอบงานนำทางและยืดหยุ่นสาหรับแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 5 และต่อเนื่องระยะยาว
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนฯจะระบุกรอบของการดำเนินงานทุกด้านให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งประเทศไทยต้องการและสอดคล้องกับ Kunming-Montreal Biodiversity framework ซึ่งประเทศภาคีได้รับรองจากการประชุมภาคี COP-15 รวมทั้งจะสนับสนุนความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆทั้งหน่วยงานของรัฐภาคธุรกิจและประชาสังคมและจะช่วยให้มีแนวทางหมุดหมาย
กรอบเวลาในการดำเนินงานและที่สำคัญมีการระบุว่าใครจะเข้ามาร่วมกันดำเนินงานหน่วยงานใดและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียใดเพื่อนำทางไปบรรลุพันธกิจปี 2030 และวิสัยทัศน์ปี 2050
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนฯจะทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทางในการดำเนินงานของแผนบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (NBSAP)ตั้งแต่ฉบับที่ 5 และต่อเนื่องไปจนถึงปีพ.ศ.2593(ค.ศ.2050)ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนฯกำหนดวิธีการในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามาสนับสนุนความรับผิดชอบของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง
โดยยุทธศาสตร์ที่1 คือ การขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพโดยการดำเนินงานของภาครัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังตั้งแต่ระดับนโยบายของรัฐ ประกอบด้วย
แผนปฏิบัติการที่1บูรณาการเต็มรูปแบบให้คุณค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เข้าไปในการวางแผนการพัฒนาระดับต่างๆ ทั้งระดับชาติภูมิภาคจังหวัดและท้องถิ่นโดยทำให้ เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ การใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมและนำหลักการพัฒนาที่ให้ความสาคัญของการคุ้มครองระบบนิเวศไปใช้(ecosystem approach)
แผนปฏิบัติการที่2ขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพในแผนงบประมาณและใช้กลไกทางการเงินสนับสนุนโดยเฉพาะการตัดหรือค่อยๆ ยกเลิกแรงจูงใจทางลบที่ไปสนับสนุนและเอื้อต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างแรงจูงใจทางบวกที่ไปสนับสนุนการอนุรักษ์การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯและข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆในขณะที่พิจารณาความเหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย
ยุทธศาสตร์ที่2 คือ การขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปในการดำเนินงานและวิธีปฏิบัติของภาคธุรกิจซึ่งมีบทบาทในภาคการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศประกอบด้วยภาคเกษตรภาคบริการภาคอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการเงิน ประกอบด้วย
แผนปฏิบัติการที่3 เอกชนประกอบธุรกิจในภาคส่วนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องและในทุกระดับโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและธุรกิจร่วมทุนกับต่างประเทศ ซึ่งได้รับประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างมีนัยสำคัญในการผลิตและบริการ ให้ไปใช้เทคโนโลยีและวิธีปฏิบัติที่ดีตลอดห่วงโซ่การผลิตการค้าขายและสร้างสินค้าและบริการ เพื่อให้ช่วยกันลดผลกระทบเสียหายและเพิ่มให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ตลอดจนการให้บริการระบบนิเวศแก่ประชาชนชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจนถึงความเป็นอยู่และสุขภาพของทุกคน
แผนปฏิบัติการที่4 องค์กรด้านการเงินทุกระดับ ระบุนโยบายและขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ไว้ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพิจารณาการให้การสนับสนุนการเงินที่เกี่ยวข้องของธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเพื่อใช้ในการลดบรรเทาผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของธุรกิจเอกชนที่ขอสนับสนุนด้านการเงินในการประกอบกิจการ
ยุทธศาสตร์ที่3 คือ การขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพในสังคมให้ทุกคนได้มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ประกอบด้วย
แผนปฏิบัติการที่5 ประชาชนทุกพื้นที่ซึ่งต้องพึ่งพิงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพมีความตระหนักมีความสามารถและมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนได้รับข้อมูลข่าวสาร ทำให้วิถีชีวิตที่ดีและสามารถอยู่และพึ่งพิงธรรมชาติที่มีชีวิตได้อย่างยั่งยืน มีผลสัมฤทธิ์ให้ความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทสาคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีการอุปโภคบริโภคและการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนทั้งนี้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและประเทศ