ถนนทุกสายมุ่ง “อาหารอนาคต” ตอบโจทย์ความยั่งยืน

Taste Bud Lab ร่วมกับกลุ่ม FoodConnext จัดเสวนา Future Food Forum 2022 และเวิร์กช็อป Where is The Future of Future Food เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตที่ครอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่กับประชาคมโลก

เปิดประสบการณ์เมนูอาหารอนาคต (Future Food) สร้างสรรค์จากเชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ และ เชฟ Curtis Hetland จาก “หมาน้อยฟู้ดแล็บ” (Mah Noi Food Lab) ได้รับความร่วมมือจาก 20 สตาร์ทอัพที่ส่งมอบวัตถุดิบผสานกับวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาล ชูคอนเซปต์อาหารอนาคตทั้งเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่น ความหลากหลายชีวภาพและรสชาติที่ดี ควบคู่ไปกับประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เมนูแรกหมี่เย็นญี่ปุ่นทำเส้นจากผงสาหร่ายไกผสมแป้งโฮลวีต น้ำซุปปลานิลรมควันปรุงด้วยน้ำตาลมะพร้าวและน้ำปลาวีแกน เสิร์ฟพร้อมน้ำส้มสายชูหมักจากมะเฟือง ตามด้วยแผ่นปอเปี๊ยะจากแป้งเม็ดขนุนทานคู่หมูไบโอไดนามิกและซอสเห็ดแครง และเมนูตัวอย่างปิดท้าย คัสตาร์ดครีมนมงาผสมผงโปรตีนสกัดจากหนอนไหมอีรี่และผงสาหร่ายสไปรูลิน่า

TASTEBUD LAB และ ไบโอ บัดดี้ ร่วมกับ วีเอ็นยูฯ กลุ่ม Future Food Network และกลุ่ม Food Connext จัดงาน WHERE IS THE FUTURE OF FUTURE FOOD ปีที่ 3 และ Thailand’s Future Food Forum 2022 เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง

กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล Bangkok Design Week 2022 เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อโอกาสด้านอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทยที่รวมกว่า 40 หน่วยงานด้านอาหาร และ การทำงานร่วมกันของ กว่า 200 หน่วยงาน บน Future Food System Framework

อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ตลาดหลักทรัพย์ MAI สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผ่านประสบการณ์และคอร์สอาหารแห่งอนาคต และการระดมสมองเพื่ออาหารอนาคต (Immersive Future Food Experience & Future Food Ideation)

จุดพลุขับเคลื่อนอาหารอนาคต

สันติ อาภากาศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Bio Buddy และ Taste Bud Lab กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ Taste Bud ได้สร้าง “แพลตฟอร์มด้านอาหารอนาคต” วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นระบบนิเวศสำหรับผู้มีส่วนได้เสียหลายๆ ฝ่ายเข้ามาเจอกันและร่วมมือกันเป็นนิเวศที่สมบูรณ์ภายในแนวคิดแบบ Reconnect

อีกทั้งจะเป็นพื้นที่บ่มเพาะเฉพาะด้านอาหารอนาคตให้กับสตาร์ทอัพ โดยจัดทำเป็นโครงการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ หรือกลุ่มคนที่สนใจและมีความเชี่ยวชาญในการทำโปรแกรมบ่มเพาะ

แพลตฟอร์มนี้ยังเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยการตั้งโจทย์และแก้โจทย์ทางด้านอาหารที่มีอยู่ อย่าง Food Innopolis ของ สวทช. นักเทคโนโลยีอาหาร หรือไปร่วมกับภาคเอกชน โดย Taste Bud จะเป็นจิกซอว์ตัวหนึ่งที่ไปเข้าร่วมเพื่อผลักดันให้ชัดเจนมากขึ้น

ถนนทุกสายมุ่ง"อาหารอนาคต"ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ภาพ สันติ อาภากาศ 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนา future food เป็นกุญแจที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารได้นับแสนล้านบาทต่อปีให้เติบโตอย่างยั่งยืน

โดยขณะนี้ 4 เทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง คือ 1.อาหารฟังก์ชัน 2.อาหารนวัตกรรมใหม่ 3.อาหารทางการแพทย์ และ 4.อาหารอินทรีย์

อาหารอนาคตจะตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านอาหารและเป็นอนาคตของการส่งออกของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศได้ดีกว่าการส่งออกสินค้าขั้นปฐมเพียงอย่างเดียว

อาหารอนาคตจะตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลกที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร (food security) และเป็นอนาคตของการส่งออกของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศได้ดีกว่าการส่งออกสินค้าขั้นปฐมเพียงอย่างเดียว โดยมีโอกาสจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า มีตลาดส่งออกเป้าหมายหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

ถนนทุกสายมุ่ง"อาหารอนาคต"ตอบโจทย์ความยั่งยืน

แต่สิ่งสำคัญต้องผลักดันวัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น วัตถุดิบบางตัวโอกาสแข่งขันสูง แต่เมื่อเราพัฒนาให้เกิดการวิจัย เช่น เพิ่มการผลิตถั่วเหลืองทดแทนการนำเข้า และต่อยอดอาหารทางเลือก (alternative food) กลุ่มโปรตีนทางเลือก (alternative protein) ที่เริ่มต้นจากอาหารจากพืช (plant besed food) ขณะที่หลายบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วต่อยอดไปยังอาหารแปรรูปรสชาติต่าง ๆ

อาหารอนาคตจะมีความหลากหลายทั้งชื่อเรียก ชนิด องค์ประกอบ ซึ่งไม่ได้มีแค่จากพืชผักผลไม้เท่านั้น แต่รวมถึงซากสัตว์ สมอง แมลง เซลล์สัตว์ ส่วนที่มาจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งจุลินทรีย์ แร่ธาตุ ที่สามารถผลิตให้มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์

ปี 65 ประกาศเปิดตัว Consortium

วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมแสดงความเห็นว่า เทรนด์อาหารทางเลือกและโปรตีนทางเลือก ซึ่งรวมถึงเห็ดและเนื้อเทียม (Cultured Meat) มาแน่นอนในตลาดโลก จึงต้องการสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย

ไบโอเทคได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี สาขาอาหาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้พูดคุยกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่ม Food Connext ที่ให้ความชัดเจนได้ว่า โปรตีนทางเลือกเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทรัพยากรชีวภาพให้แตกต่างจากสินค้าปกติที่ขายได้ในราคาถูก ตอบโจทย์ผู้บริโภคในด้านความต้องการรวมทั้งเรื่องของความยั่งยืน

ถนนทุกสายมุ่ง"อาหารอนาคต"ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ภาพ หมี่เย็นญี่ปุ่นทำเส้นจากผงสาหร่ายไกผสมแป้งโฮลวีต

แนวทางหนึ่งที่พูดถึงคือ การจัดตั้ง Consortium เพื่อเป็นเวทีการทำงานร่วมกันในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารอนาคตให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เบื้องต้นจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ ผู้ประกอบการทุกระดับซึ่งรวมถึงสตาร์ทอัพและหน่วยงานภาครัฐ

“มูลค่าโปรตีนทางเลือกในไทย 3,500 ล้านบาท อีก 5 ปีจะผลักดันให้เป็น 6 พันล้านบาท โดย Consortiumจะช่วยกันผลักดัน 3 เรื่องหลักคือ

1.ทำอย่างไรให้วัตถุดิบเป็นอุตสาหกรรมได้ เช่น โปรตีนจากแมลงที่มีในบ้านเราก็อยู่ในระดับที่ไม่สามารถส่งออก

2.กระบวนการและเทคโนโลยีต่างๆ ทำอย่างไรถ้าผู้ประกอบการต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าให้เป็นธุรกิจ และ

3.กฎระเบียบและระบบมาตรฐานรับรองความปลอดภัยต่างๆ ที่บ้านเรายังไม่มี”

ทั้งนี้ สวทช.เป็นหน่วยงานวิจัยมีองค์ความรู้มากมาย ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการแปลงสินค้าและบริการให้เป็นนวัตกรรมและเป็นสินค้ามูลค่าสูง จะเป็นการตอบโจทย์เรื่อง BCG ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารประเภทใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่เฉพาะผู้บริโภคแต่รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายเล็กจนถึงรายใหญ่

กระดานเทรดหุ้นสตาร์ทอัพ

ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น จึงเปิดกระดานเทรดหุ้นที่ 3 ชื่อ “ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” (LiVE Exchange) เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดทุนที่ง่ายขึ้น ผ่อนคลายขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง

ถนนทุกสายมุ่ง"อาหารอนาคต"ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ภาพ เชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ และ เชฟ Curtis Hetland

ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหลักจะต้องมีทุนจดทะเบียนและกำไร 50-300 ล้านบาทขึ้นไป แต่ในตลาดหุ้นที่ 3 นี้ จะไม่มีเงื่อนไขด้านทุนจดทะเบียนและกำไร จะมีหรือไม่มีที่ปรึกษาทางการเงินก็ได้ แต่ต้องบริษัทที่ทำธุรกิจมีรายได้และกำลังเติบโต ที่สำคัญคือจะต้องมีอนาคตเติบโตสูงโดยพิจารณาจากศักยภาพของแหล่งทุน หรือ VC และเงื่อนไขที่ผ่อนคลายถัดมาคือ การส่งรายงานงบประมาณลดเหลือปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น

“นี่คือสิ่งใหม่ที่เปิดโอกาสเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุน เราสร้าง lives platfrom ในการสร้างความรู้ นี่คือการสร้างโอกาสในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบที่จะทำธุรกิจ future food” ประพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ Taste Bud Lab และ Future Food Network ร่วมออกบูธและจัดกิจกรรม Future Food Tasting Experience by Tastebud Lab โชว์ 6 เคสอาหารแห่งอนาคต พร้อมทั้ง workshop สาธิตการทำเมนู plant based ชิม และ ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการด้านอาหารอนาคต ที่บ้านและสวนแฟร์ 2565 จนถึงวันที่ 27 มี.ค. นี้ ณ ไบเทค บางนา สอบถามเพิ่มเติม Line: @tastebudlab

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ