กูเกิ้ล สนับสนุนขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงข้อมูล แอมะซอนเสนอเร่งเครื่องทักษะเทคโนโลยี โคเซ็นจากญี่ปุ่นเปิดพิมพ์เขียวทักษะด้านอาชีพควบคู่เทคโนโลยี ด้าน ไมเคิล บลูมเบิร์ก จากสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบการศึกษายังตามไม่ทัน แรงงานมีทักษะไม่ตรงความต้องการภาคธุรกิจ หอการค้าเยอรมัน-ไทยโชว์รูปแบบการศึกษาเน้นเรียน 30% ฝึกงาน ลงมือปฏิบัติ 70%
บนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการศึกษาจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก “Forum for World Education 2022” ที่ สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก(FWE) ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา บริษัทระดับโลก อาทิ กูเกิ้ล แอมะซอน และเครือซีพี โดยซีอีโอเครือซีพีชี้โลกก้าวสู่ยุค 5.0 ต้องพัฒนาการศึกษาให้ก้าวทัน ต้องดึงดูดคนเก่งเข้ามาสู่ภาคการศึกษา ขณะที่กูเกิ้ลเร่งสร้างแพลตฟอร์มให้เข้าถึงข้อมูล ส่วนแอมะซอนเสนอเติมเต็มทักษะด้านเทคโนโลยี โคเซ็นจากญี่ปุ่นเปิดพิมพ์เขียวทักษะด้านอาชีพควบคู่เทคโนโลยี เน้นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ หอการค้าเยอรมัน-ไทยแชร์รูปแบบการศึกษาในเยอรมัน จัดการเรียนในสถาบันการศึกษา 30% และ การเรียนรู้ การฝึกงาน และการทำงานด้วยการลงมือปฏิบัติในสถานประกอบการ 70% โดยใช้เวลาในการเรียนไม่เกิน 5 ปี ด้าน ไมเคิล บลูมเบิร์ก ย้ำเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบการศึกษายังตามไม่ทัน แรงงานมีทักษะไม่ตรงความต้องการภาคธุรกิจ
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกยุค 5.0 แรงงานกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติหรือ AI ในขณะที่ข้อมูลได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีค่ามากกว่าเงิน แต่ระบบการศึกษาของไทยยังคงอยู่ที่ยุค 2.0 เรายังสอนให้คนออกมาทำงานในโรงงาน ทั้ง ๆ ที่แรงงานกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร และระบบอัตโนมัติหรือ AI ดังนั้นในยุค 5.0 เราต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการที่จะทำสิ่งเหล่านี้
“ทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ นั่นก็คือจะต้องพัฒนาคน และสร้างทัศนคติของคน ด้วยการสร้างให้คนเป็นเถ้าแก่ ต้องทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นทุกแง่มุมของธุรกิจแบบเต็มองค์รวม มีความรู้ที่ถ้วนทั่ว มองเห็นทุกแง่มุมของโลก เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กรุ่นใหม่ เพราะว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นคนที่สร้างโลกใหม่ของเรา ดังนั้นระบบการศึกษาของเราจะต้องหันมาพิจารณาตัวเองว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อที่จะได้ก้าวตามทันโลก อุตสาหกรรม และธุรกิจในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ ซีอีโอ เครือซีพี ยังกล่าวต่อไปว่า “คนรุ่นใหม่น่าจะเรียนจบตั้งแต่อายุ 18 ปี แล้วเขาก็น่าที่จะรู้จักเส้นทางของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ทำอาชีพที่ตัวเองชอบได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าจะทำได้แบบนั้นได้ต้องมีการผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนทั้งในเรื่องของการที่จะทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในการศึกษา รวมถึงทำให้เขาได้มีโอกาสในการทำงานไปพร้อม ๆ กัน และการที่จะสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถ ครูถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะว่าความสามารถและทัศนคติของครู มีความสำคัญพอๆ กับทักษะในการสอน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาทำงานในแวดวงการศึกษาได้ พร้อมที่จะสอน พร้อมที่จะเป็นครู พร้อมที่จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ เด็กที่เป็นเยาวชนของเรา” นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่
ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้เน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อให้พร้อมกับมือกับโลกในยุคอนาคตว่า “ในมุมมองของภาคเอกชน เราไม่อยากได้คนที่จะมารับคำสั่งอย่างเดียว เราอยากได้คนที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด คนที่กล้าที่จะถามคำถาม คนที่อยากจะทำงานวิจัยและค้นคว้าเพื่อความรู้เพิ่มขึ้น คนที่อยากจะลงมือทำงาน คนที่พร้อมทำงานเป็นทีม คนที่สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้ด้วยการใช้เหตุและผล คนพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องทำ คือไม่เน้นแค่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ แต่ควรจะสอนเยาวชนของเราให้สามารถที่จะรับมือกับความท้าทายทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามา และสามารถที่จะสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลกใบนี้ได้มากขึ้น” นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวสรุป
มร.คอลลิน มาร์สัน (Mr.Collin Marson) ผู้อำนวยการด้านการศึกษา กูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และนวัตกรรมสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกได้ รวมถึงการศึกษา ดังนั้นสิ่งที่กูเกิ้ลทำคือ การทำให้คนเข้าถึงข้อมูลต่างจากทั่วทุกมุมโลกได้เองจากที่บ้าน
“เราพยายามอย่างมากในการสร้างการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มของเรา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการทำงาน ที่สามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน โดยมีมาตรการเข้าถึงความปลอดภัยด้านข้อมูล ซึ่งเป็นความท้าทายของกูเกิ้ลที่จะให้เกิดการใช้งานได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น”
มร.วิคราม เรา (Mr.Vikram Rao) หัวหน้าด้านวิสาหกิจ อาเซียน จากแอมะซอน กล่าวว่าในยุคที่คำว่าดิจิทัลได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างการเข้าถึงในเรื่องต่างๆ อย่างมากมาย การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จใน 10 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีผู้คนมากถึง 86 ล้านคนต้องใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนการสอนและการฝึกอบรม แต่การเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้คนในจำนวนนี้มีถึง 2 ใน 3 คนที่ยังขาดความมั่นใจและขาดทักษะในเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจในการที่จะมาผสมผสานคนทั้งสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน ด้วยการเติมเต็มทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคนและธุรกิจไว้ด้วยกัน”
การที่จะสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับแต่ละประเทศได้นั้น สิ่งสำคัญก็คือการพัฒนาระบบการศึกษา เพราะว่าคนคือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดย มร.ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Mr.Michael Bloomberg) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 3 สมัย กล่าวว่า หากต้องการทราบวิธีการแก้ปัญหาของสังคม เราต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการศึกษาด้วยดีมาตลอด แต่ในยุคนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมากที่สุดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาจึงตามไม่ทัน
“ปัญหาที่สำคัญของอเมริกาคือ มีงานจำนวนมาก แต่กลับไม่มีแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ของภาคธุรกิจ และเรามีคนเก่งไม่มากพอที่จะฉุดเศรษฐกิจของอเมริกาให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ดังนั้นเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เราจึงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบการคัดเลือกของครูให้ดีขึ้น มีการเพิ่มเงินเดือนครูถึง 43% ส่งเสริมศักยภาพให้ครูออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เห็นผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว”
แนวทางในการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สอดรับกับโลกและเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงาน โดยผู้นำธุรกิจจากประเทศต่างๆ เห็นตรงกันว่า ควรลดระยะเวลาการเรียนลง เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วที่สุด
มร.อินูอูเอะ มิตซึเทรุ (Dr.Inoue Mitsuteru) กรรมการบริหารอาวุโส สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การสร้างความสำเร็จของระบบศึกษาที่ญี่ปุ่นนั้น จะเน้นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะในเรื่องเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการฝึกอบรม และสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับชาติ 51 แห่ง วิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง และ วิทยาลัยของเอกชนอีก 3 แห่ง โดยให้ทุนเรียนกับนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จนถึงระดับปริญญาเอก
“โคเซ็นเริ่มเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนตั้งแต่จบมัธยมต้น เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรม 5 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 15 จนถึงอายุ 21 ปี โดยอาจารย์ผู้สอนจะต้องจบปริญญาเอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทุกคน โดยจะเรียนหลักสูตรพื้นฐาน 60% เรียนเฉพาะทางวิศวกรรมอีก 40% เสริมด้วยทักษะการใช้ชีวิต การสื่อสาร และนวัตกรรมไอทีต่างๆ ซึ่ง เราต้องการสร้างวิศวกรที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเชื่อมั่นว่า พลังของคนรุ่นใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้”มร.อินูอูเอะ มิตซึเทรุ กล่าว
สำหรับการศึกษาที่เยอรมัน มร.มาร์คุส ฮอฟฟ์มันน์ (Mr.Markus Hoffman) ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาความเป็นเลิศคู่เยอรมัน-ไทย(GTDEE) หอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวว่า ที่ประเทศเยอรมันมีการจัดการระบบการศึกษาแบบ VET(Vocational Education and Training) ด้วยการจัดการเรียนในสถาบันการศึกษา 30% และ การเรียนรู้ การฝึกงาน และการทำงานด้วยการลงมือปฏิบัติในสถานประกอบการ 70% โดยใช้เวลาในการเรียนไม่เกิน 5 ปี เยาวชนเหล่านี้ก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม”
สำหรับสภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษากับการทำงานให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอมุมมองด้านธุรกิจต่อการจัดการศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทโลกทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจัดการประชุมสัมมนา ขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดยจัดเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในปีนี้ได้จัดประชุม Forum for World Education 2022 ขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยเชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุม พร้อมกับผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ กว่า 400 คน เพื่อระดมความเห็นในการออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ