สองทศวรรษที่ผ่านมา เข้าสู่ยุคโลกไร้พรมแดนหรือ โลกาภิวัฒน์ เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน อุตสาหกรรม การค้าและภาคบริการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่โลกเผชิญกับวิกฤติเชิงซ้อนหลากหลายด้าน ทั้งวิกฤติทรัพยากร วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร และวิกฤติระบบการเงิน ปรากฏการเหล่านี้ยิ่งสะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และในที่สุดผลลัพธ์เหล่านี้ก็ย้อนกลับมาสู่ภาคธุรกิจเช่นกัน
บทเรียนจากวิกฤติจึงทำให้เกิดแนวคิดภาคธุรกิจต้องแสวงหาความร่วมมือระดับโลก ปรับกระบวนทัศน์การทำธุรกิจใหม่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายแสวงหาแนวทางการทำธุรกิจในระยะยาว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนลุกลามกลับมาสู่ธุรกิจ เพราะตระหนักดีว่า”ภาคธุรกิจไม่อาจจะเติบโตได้ท่ามกลางความล่มสลายของสังคมและสิ่งแวดล้อม” การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงไม่เพียงคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดให้กับบริษัท แต่จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องธุรกิจให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ธุรกิจจึงจะอยู่รอดได้และเติบโตไปพร้อมกัน
สอดคล้องกันกับทิศทางองค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) เล็งเห็นว่าภาคธุรกิจควรตระหนักและให้ความสำคัญกับบทบาทความเป็นบรรษัทพลเมือง (Corporate Citizenship) เพราะการขับเคลื่อนการลงทุนทำธุรกิจ ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบมหาศาลต่อโลกใบนี้ จึงผลักดันสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจภายใต้ UN Global Compact ในปี 2542 เชิญชวนให้ภาคธุรกิจสร้างพันธสัญญาประกาศจุดยืน “ทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อโลกใน 4 มิติ คือ 1.การเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน 2.การคุ้มครองสิทธิ์แรงงาน 3.การรักษาสิ่งแวดล้อม และ4.การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
จากนั้นในปี 2543 ทาง UNGC ได้ประกาศหลักปฏิบัติ 10 ประการที่สอดคล้องกับ 4 มิติการพัฒนา เป็นแนวทางสร้างธุรกิจที่มีความรับผิดชอบระดับโลก ที่จะส่งผลทำให้ภาคธุรกิจที่เป็นสมาชิกUNGCจะได้รับความน่าเชื่อถือ และมีแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักสากล รวมถึงมีบทบาทส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในกลุ่มธุรกิจ ทำให้เกิดการรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงดำเนินธุรกิจด้วยความสมดุลให้สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันเครือข่าย UNGC ถือเป็นเครือข่ายการพัฒนายั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิกกว่า 12,000 บริษัท กระจายตัวอยู่ใน 156 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทที่เข้าร่วมเป็น UNGC มีทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดกลาง จนบริษัทขนาดเล็ก รวมไปถึงมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร และสมาชิกอื่นที่ไม่อยู่ในรูปบริษัท อาทิ โคคา-โคลา, พีแอนด์จี, เนสท์เล่, เป๊บซี่-โคล่า, ยูนิลีเวอร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นต้น
โดยสมาชิกองค์กรที่เป็นสมาชิก UNGC จะต้องมีเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนให้สอดคล้องกันหลักปฏิบัติ 10 ประการ พร้อมกับมีการ
จัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี และสามารถเป็นผู้นำที่มีบทบาทในกิจกรรมร่วมกับ UNGC ทั้งระดับสากล และระดับประเทศอย่างสม่ำเสมอ
ธุรกิจปรับวิถี พลิกโลกยั่งยืน
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย หรือ Global Compact Network Thailand หรือ GCNT เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของGCNT เกิดจากการเข้าร่วมการประชุมกับUN Global Compact ที่มีเป้าหมายเชิญชวนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเข้าสู่กระบวนการคิดค้นหายุทธวิธีขับเคลื่อนความยั่งยืน ที่คำนึงถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุลทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การเข้าร่วม GCNT ถือเป็นการรวมพลังเครือข่ายผู้ที่ตระหนักถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลง วางบรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจให้กับโลกอย่างยั่งยืน โดยวางยุทธศาสตร์159850273986ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Transform) 5 กลยุทธ์ คือ 1.การสร้างดัชนีชี้วัดการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนที่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักสากล 2.ผลักดันกลไกการตลาด เพราะความยั่งยืนจะนำไปสู่หลักปฏิบัติได้ต้องถูกออกแบบให้เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันกับโมเดลธุรกิจ 3.การเปลี่ยนแปลงผู้นำ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนผู้นำองค์กร และผู้นำรุ่นใหม่ ต้องเข้าไปสนับสนุนให้ทั้ง 2 กลุ่มให้มีบทบาท 4. มอบอำนาจตัดสินใจ (Empower) เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมรับฟังความเห็นและปัญหาเพื่อร่วมหาทางออก และ 5.นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมมาช่วยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ที่ไม่ใช่เพียงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งของ แต่เป็นนวัตกรรมวิธีคิด การทำงาน และการทำธุรกิจ
“องค์กรธุรกิจ คนรุ่นใหม่ที่อยากขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง อยากให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน ร่วมมือสร้างการตระหนักรู้ถึงการพัฒนายั่งยืนให้กับเราและลูกหลานของเรา”
พันธสัญญาGCNT สู่เป้าหมายสูงสุดSDGs
ทางด้าน ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย หรือ Global Compact Network Thailand เปิดเผยถึงที่มาของ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย )Global Compact Network Thailand) หรือ GCNT ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 เริ่มต้นมีสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกในไทย 60 บริษัท ถือเป็นเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ลำดับที่ 70 ของ UNGC โดยสมาชิก GCNTมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกันกับ UNGC คือการตั้งเป้าหมาย ภายในปี 2573 เป็นเครือข่ายที่ส่งต่อกระแสการทำธุรกิจทั่วโลกอย่างยั่งยืน ในกลุ่มบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในแบบที่พวกเราทุกคนต้องการ
“GCNT เกิดจาการที่ทาง คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมGCNT ในปัจจุบันได้รับพันธสัญญาจากทางนิวยอร์ค UNGC ให้จัดตั้งเครือข่ายระดับท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นในปี 2558 และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในปี 2560 เพื่อรวบรวมสมาชิกในประเทศไทยร่วมกับขับเคลื่อนพันธกิจของUNทั้ง 4 เสาหลัก”
โดยสมาชิกเครือข่าย GCNT มีผู้เข้าร่วม 60 บริษัทในปัจจุบัน มีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่มีรูปแบบการพัฒนาธุรกิจยั่งยืน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ปตท., เอสซีจี, ไทยออยล์, ไออาร์พีซี, ไทยยูเนี่ยน, ไทยเบฟเวอเรจ และมิตรผล เป็นต้น ซึ่งมีคู่ค้าพันธมิตรเกี่ยวข้องในซัพพลายเชนกว่าแสนราย จึงถือว่ามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย
“การเข้าร่วมเป็นสมาชิกเหมือนได้รับรองที่ไปคุยกับนักลงทุนต่างชาติ เพราะตราประทับ UNGC มีการยอมรับและมีมูลค่า สมาชิกทั้ง 60 รายแรก จึงถือเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน”
สมาคมเครือข่าย GCNT มุ่งมั่นที่จะผนึกกำลังและรวมกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศไทยเป็นต้นแบบโมเดลความร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน โดยเครือข่าย GCNT สามารถมีส่วนร่วมนำเสนอแผนการรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนชาติให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน(Sustainable Development Goals-SDGs) ทั้ง 17 ด้าน ของ UN ประกอบด้วย 1. ความยากจน 2. ความหิวโหย 3. สุขภาวะ 4. การศึกษา 5.ความเท่าเทียมทางเพศ 6. น้ำและการสุขาภิบาล 7. พลังงาน 8. เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9. โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10. ความเหลื่อมล้ำ 11. เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12. แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14. ทรัพยากรทางทะเล 15. ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ16.สังคมและความยุติธรรม และ 17. หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล โดย UN ได้วางแผนติดตามผลให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และเป้าหมายการลดอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาสเซลเซียส
ทั้งนี้ GCNT ได้วางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืนโดยมีภารกิจ 5 ด้านคือ 1.เพิ่มการตระหนักรู้ โดยสร้างความเข้าใจเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนและสนับสนุองค์ความรู้ 2.ผนึกกำลังทุกภาคส่วน แสวงหาความร่วมมือสร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ด้วยการมอบรางวัลต้นแบบการพัฒนายั่งยืน 3.เพิ่มขีดความสามารถ มีการจัดทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืนของแต่ละองค์กร จัดทำคู่มือช่วยติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการ 4.รณรงค์นโยบายระดับชาติ มีบทบาทเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ให้ข้อมูลและนำเสนอนโยบาย ผลักดันให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ และ5.ขยายเครือข่ายเพื่อความร่วมมือที่แข็งแกร่งมีการขยายฐานสมาชิกเพื่อแสวงหาร่วมมือพลังเครือข่ายให้ใหญ่มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มสมาชิกให้ได้ 200 ราย ภายในสิ้นปี 2564
ผนึกผู้นำฝ่าวิกฤติ ขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนในวิถีใหม่
วิกฤติโควิด เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส เพราะการทำงานภายใต้ปัญหาซับซ้อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาวะเป็นหลัก จึงส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อโลก ที่ทำให้เห็นภาพปัญหาของโลกชัดเจนขึ้น ทว่า โควิด ถือเป็นปัญหาโรคคระบาดสามารถบริหารจัดการได้ เมื่อมีการคิดค้นวัคซีนปัญหาดังกล่าวก็จะเริ่มคลี่คลายลง แต่สิ่งที่ประชากรโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างต่อเนื่อง คือความเหลื่อมล้ำ ภัยธรรมชาติ การกระจายรายได้ การศึกษา และความเท่าเทียมในสังคม และเป็นภารกิจใหญ่ที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องตื่นตัวพลิกกลยุทธ์ทางธุรกิจสู่การพัฒนายั่งยืน
ทั้งนี้ ภายหลังจากวิกฤติโควิด -19 ส่งผลทำให้เกิดการดำเนินชีวิตและธุรกิจในวิถีใหม่ (New Normal) จึงเป็นความท้าทายการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้วิถีใหม่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องปัญหาซับซ้อนและท้าทายในบริบทที่เปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้อย่างไร
นี่จึงเป็นที่มาของ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย จัดเวทีสัมมนา “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” สุดยอดผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ภายใต้แนวคิดหลัก “Recover world, recover Thailand better” ผนึกกำลังการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ หลังสถานการณ์ COVID-19 และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสครบรอบ 20 ปี การจัดตั้งเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (On the Occasion of the 20th Anniversary of United Nations Global Compact) และครบรอบ 75 ปี สหประชาชาติ (United Nations) จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ณ ห้องเอสแคป ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ