GDP ไตรมาสแรกโต 2.2% แนวโน้มเศรษฐกิจปี 65 โต 2.5-3.5%

ภาพโดย Lorenzo Cafaro จาก Pixabay

สภาพัฒน์ฯ รายงาน ครม. GDP ไตรมาสแรกโต 2.2% แนวโน้มเศรษฐกิจปี 65 โต 2.5-3.5%

วันที่ 17 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกและแนวโน้มของปี 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.2% จำแนกเป็น

(1)การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.9%

(2)การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 0.8%

(3)การอุปโภคภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น 4.6%

(4)ปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 10.2% (มูลค่าการส่งออก USD เพิ่ม 14.6%)

(5)ปริมาณการส่งออกบริการเพิ่มขึ้น 30.7%

(6)สาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 4.1%

(7)สาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.9%

(8)สาขาการค้าเพิ่มขึ้น 2.9%

(9)สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้น 34.1%

(10)สาขาขนส่งเพิ่มขึ้น 4.6%

(11)สาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น 0.2%

(12)สาขาก่อสร้างภาคเอกชนลดลง 5.5%

ประมาณการตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตอยู่ที่ 2.5-3.5% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3.5% ส่วนแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยสาขาอื่น อาทิ การบริโภคภาคเอกชน 3.9% การลงทุนภาคเอกชน 3.5% การลงทุนภาครัฐ 3.4% มูลค่าการส่งออก (รูปเงิน USD) 7.3% และเงินเฟ้อ 4.2 – 5.2% สำหรับปัจจัยสนุบสนุนปี 2565 อาทิ 1.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง ควบคู่กับความคืบหน้าการกระจายวัคซีน 2.ฐานรายได้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจขยายตัวตามภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการส่งออก 3.การผ่อนปรนมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยยกเลิกมาตรการ Test&Go ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 อาทิ 1.ภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงและจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 2.เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง 3.ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนและมาตรการคว่ำบาตร 4.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจปี 2565 ดังนี้

1.การรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เช่น (1)การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิตเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนและธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างต่อเนื่อง (2)การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว

2.การสนับสนุนการฟื้นฟูของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น (1)การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ไปยังพื้นที่เมืองรอง รวมทั้งกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (2) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า

4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เช่น (1)การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562-2564 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (2)การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและประกอบการและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (3)การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค

5.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่น เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.5 ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ

6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ