Gen Z ว่าแน่แล้ว Gen Alpha มาแรงกว่า เตรียมรับมือ เด็กที่เกิดในยุค AI โควิดระบาด และวิกฤตโลกร้อน

สมัยนี้ ความหลากหลายในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลก บางบริษัทอาจมีบุคลากรตั้งแต่รุ่น Baby Boomer ยัน Gen Z เลยด้วยซ้ำ

ถ้าใครยังคิดว่า Gen Z เป็นน้องเล็กสุดในวงการทำงาน ขอบอกเลยว่าคุณอาจต้องคิดใหม่ เพราะ ‘Gen Alpha’ กำลังมาแล้ว

ในปี 2030 ‘Gen Alpha’ บางส่วนจะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ นับเป็นวัยแรกเริ่มของการเข้าทำงาน ไม่ว่าจะในฐานะเด็กฝึกงานหรือพนักงานฟูลไทม์ก็ตาม ดังนั้น บริษัทที่ดีก็ควรเริ่มเตรียมรับมือกับการเข้ามาของเจนเนอเรชันใหม่ ไม่เช่นนั้น คงเกิดปัญหาในการทำงานแน่นอน

แนวคิดแบบ ‘Perennial’ ไม่สนใจความต่างของวัย โฟกัสที่ความเหมือนเท่านั้น

Working

จากนิยามของ ‘Gina Pell’ ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี บริษัททุกแห่งควรมีแนวคิดแบบ ‘Perennial’ มายด์เซ็ตในการทำงานแบบไม่นำอายุมาแบ่งแยกบุคลากร แต่จะเน้นว่าแต่ละคนมีความเหมือนตรงไหนมากกว่า

แนวคิดนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเตรียมบริษัทให้พร้อมกับการมาของ Gen Alpha เพราะมันจะทำให้องค์กรทั้งหลายดึงคุณสมบัติดีๆ ของคนรุ่นนี้ออกมาใช้กับการทำงานได้ แทนที่จะมัวแต่เหมารวมแล้วตั้งแง่กับเด็กรุ่นใหม่ไปเสียหมด

ถ้าองค์กรสามารถดึงจุดแข็งของ Gen Alpha มาประกอบกับจริยธรรมในการทำงานของ Gen X และ ความใฝ่รู้ของ Gen Y ได้ สภาพแวดล้อมในบริษัทก็จะเป็นมิตรสำหรับทุกคน และบุคลากรก็จะได้รับประสบการณ์การทำงานที่ทรงคุณค่า

Gen Alpha เจนเนอเรชันที่โตมากับ AI ภาวะโลกร้อน และ โควิด – 19

Gen Alpha

แม้ในตอนนี้พวกเราอาจจะไม่ได้รู้จัก Gen Alpha ดีนัก แต่ที่แน่ๆ คือ พวกเขาเป็นเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแปลว่าคนกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมกับการมาของ AI, ภาวะโลกร้อน และ โควิด-19 ส่งผลให้กลายเป็นเจนเนอเรชันที่จะเก่งด้านเทคโนโลยีที่สุด

ที่สำคัญ ด้วยความที่ Gen Alpha โตมากับการได้เห็นผู้ปกครอง ‘Work from Home’ ช่วงโควิด ดังนั้น มันก็คงไม่แปลกที่พวกเขาจะคาดหวังให้วัฒนธรรมการทำงานที่เขาจะต้องเจอ ควรมีความยืดหยุ่นเช่นกัน

นอกจากนี้ Gen Alpha ยังให้คุณค่าเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม การไม่แบ่งแยก และ ความยั่งยืนเป็นอย่างมาก

ทั้งยังเป็นเจนเนอเรชันที่กล้าอาสาช่วยเหลือสังคม ดังนั้น หากองค์กรอยากได้ Gen Alpha มาทำงานในระยะยาว ประเด็นเหล่านี้ก็ควรฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Gen Alpha เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีความแน่นอนแถมอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีต้องมาก่อนเสมอ มันจึงเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจมีปัญหาทางจิตใจ ส่งผลให้คนรุ่นนี้คาดหวังว่าองค์กรทั้งหลายจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตของบุคลากรมากขึ้น

รับมือกับ Gen Alpha อย่างไรดี?

แม้เราจะยังไม่รู้ว่าในอนาคต ความเป็น Gen Alpha จะส่งผลดีต่อการทำงานอย่างไรบ้าง แต่จากบทเรียนที่หลายๆ องค์กรได้รับจาก Gen Z เราคงจะรู้แล้วว่าบริษัทใดๆ ก็ตามที่เตรียมความพร้อมรับมือการมาของคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าก็จะกลายเป็นบริษัทที่เติบโตได้ไวในวันนี้

ข้อมูลจาก ‘Fast Company’ แพลตฟอร์มรวบรวมข่าวสารด้านธุรกิจ นวัตกรรม และเทคโนโลยี คำแนะนำเบื้องต้นในการรับมือกับ Gen Alpha มีดังนี้.

1. ต้องยืดหยุ่น

หากใครยังติดหล่มกับการทำงานแบบเดิมๆ แบบที่ทำโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม หรือรู้แค่ว่าต้องทำเพราะเจ้านายหรือนโยบายบริษัทบอกมา

ขอแนะนำตรงนี้เลยว่าองค์กรของคุณควรเปลี่ยนสไตล์การทำงานได้แล้ว เพราะ Gen Alpha เขาคาดหวังที่จะได้สภาพแวดล้อมในการทำงานแบบยืดหยุ่น และจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ขององค์กรว่า ‘ทำไปทำไม?’

ดังนั้น บริษัทต่างๆ ก็ควรเตรียมคำตอบที่สมเหตุสมผลให้คำถามเหล่านี้ด้วย อย่าเอาแต่พูดว่า ‘เบื้องบนเขาสั่งมา’

2. จริงใจและเป็นตัวอย่างที่ดี

ความจริงแล้วคุณสมบัติข้อนี้ควรมีในบริษัททุกแห่ง ไม่ใช่แค่กับ Gen Alpha เท่านั้น เพราะผู้นำบริษัทที่ดีควรแสดงความจริงใจให้พนักงานทุกคนรับรู้ และบริษัทก็ควรมีกระบวนการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้

หากองค์กรตั้งเป้าไว้ว่าจะทำอะไร เช่น จะสนับสนุนความเท่าเทียมให้ถึงที่สุด ผู้นำก็ควรซึมซับวิสัยทัศน์และแสดงออกเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องด้วย ไม่เช่นนั้น อะไรที่เป็นเพียงแค่การตลาด Gen Alpha เขาดูออก

3. เปิดใจรับความเห็น

โดยทั่วไปแล้วเราอาจเห็นแต่เจ้านายหรือผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่านั่งฟีดแบคผู้น้อย แต่ในบางที การที่ผู้ใหญ่ได้รับความคิดเห็นจากเด็กๆ ก็เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนความรู้

เนื่องจากคนรุ่นใหม่อาจมีไอเดียหรือแนวคิดที่ทันสมัยกว่า ส่งผลให้ทางองค์กรได้รับข้อมูลที่หลากหลายมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ด้วย

4. รับฟังบุคลากร

ผู้นำที่ดีควรรับฟังพนักงานและพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสาร ยิ่งองค์กรเข้าใจบุคลากรมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสในการเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนาบริษัท

โดยวิธีการรับฟังอาจทำได้ผ่านการสร้างแบบสำรวจ จัดกิจกรรมทาวน์ฮอลล์ หรือ ประชุมแบบตัวต่อตัว

5. มีความฉลาดทางอารมณ์

คนที่จะสามารถสื่อสารกับ Gen Alpha ได้จะต้องมีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ไม่น้อย

โดยสิ่งนี้ก็อาจทำได้ง่ายๆ ด้วยการถามคนในทีมว่าสะดวกใช้ช่องทางการสื่อสารแบบไหนแล้วมาหารือวิธีที่ดีที่สุดกัน

ท้ายสุด องค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ก็อาจเป็นองค์กรที่สร้างผลลัพธ์ได้ดีที่สุด และแม้ Gen Alpha อาจจะยังเป็นเพียงนักเรียนในปัจจุบัน

แต่อีก 6 ปีข้างหน้า เด็กเหล่านี้จะเปี่ยมล้นไปด้วยความสามารถ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทไหนสามารถดึงศักยภาพพวกเขาออกมาได้ดีที่สุด

แหล่งอ้างอิง: Fast Company

ที่มา Brand Inside