ปกติแล้วเมื่อคนเรารู้สึกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องลดการใช้จ่าย แต่กับกลุ่ม Gen Z ในปัจจุบันกำลังทำตรงกันข้าม และมองเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างออกไป เช่น การซื้อบ้านและการออมเพื่อการเกษียณเป็นเรื่องที่ยากและอาจไกลเกินฝันหรือไม่
สำนักข่าว Bloomberg เผยถึงกรณีตัวอย่างการใช้ชีวิตของ Nia Holland หญิงสาวอเมริกันวัย 24 ปี เธอนำเงินออมจากรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการทำงานวิจัยระหว่างเรียนจนจบมหาวิทยาลัยกว่า 2,500 ดอลลาร์ ไปซื้อกระเป๋า CHANEL วินเทจ ซึ่งเธอรู้ดีว่าเงินก้อนนี้สามารถนำมาใช้จ่าย เก็บออม หรือลงทุนที่มากกว่านี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันเธอมองว่า เป้าหมายการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันคงเทียบกับแบบดั้งเดิมไม่ได้ เช่น การเป็นเจ้าของบ้านสักหนึ่งหลัง และการมีครอบครัว มีลูกๆ ดูจะห่างไกลเกินฝัน ดังนั้น การซื้อของฟุ่มเฟือยเล็กๆ น้อยๆ กระเป๋าสะพายหนังลูกแกะพร้อมสายโซ่ 24 กะรัตเพื่อตัวเอง ก็อาจทำให้เธอรู้สึกดีขึ้นได้ไม่น้อย
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมีแต่จะแย่กับแย่ อีกทั้งสภาวะโลกร้อน ความไม่สงบทางการเมือง สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรการันตีความมั่นคงเหล่านี้ได้ แม้แต่ในขณะที่เรียนระดับปริญญาเอกด้านการศึกษาและจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเธอยังใช้เงินทางบ้าน ดังนั้น มันจะง่ายกว่าหรือไม่หากเราจะใช้เงินไปกับสิ่งที่เติมเต็มจิตใจเราได้ในทันที
“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงกำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจที่แย่ โดยส่วนใหญ่มองว่า อนาคตทางการเงินมักจะหลีกหนีไม่พ้นกับภาระหนี้การศึกษา ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานที่ไม่แน่นอน ทำให้เป้าหมายทางการเงินเปลี่ยนแปลงไป เช่น มองว่าการซื้อบ้านหรือการออมเพื่อการเกษียณทำได้ยากขึ้น”
โดยข้อมูลข้างต้นสะท้อนจาก Credit Karma ซึ่งเป็นบริษัทการเงินส่วนบุคคล ที่ระบุว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันกว่า 27% ต่างยอมรับว่าการใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่ายไปกับของฟุ่มเฟือยนั้นก็เพื่อเยียวยาความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z เริ่มมีรูปแบบการใช้จ่ายลักษณะนี้สูงกว่าคนกลุ่มอื่นที่ 43% และ 35% ตามลำดับ
Stephen Wu ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จาก Hamilton College เสริมว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายแบบสวนทางกับเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักว่า “ความสำเร็จและความล้มเหลวส่วนใหญ่ล้วนอยู่นอกเหนือการควบคุม” ดังนั้น การที่คนรุ่นใหม่สามารถซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ๆ ได้นั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และคนหนุ่มสาวยังคงอาศัยอยู่ที่บ้าน บางคนหารายได้พิเศษ บวกกับการเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่มักจะเห็นภาพอาหารที่หรูหรา การใช้วันหยุด และการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยตามไอดอลหรือรายการ ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ้น
อ้างอิง bloomberg / thestandard