ผู้เชี่ยวชาญคาดกระแส Generative AI จะเริ่มแผ่วในปีหน้า เหตุต้นทุนดำเนินงานสูง-รัฐบาลเตรียมออกกฎคุม

CCS Insight บริษัทวิจัยข้อมูลด้านเทคโนโลยีชื่อดัง ออกบทวิเคราะห์ที่ทำนายว่า ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI) ที่เป็นกระแสรุนแรงอย่างมากในปีนี้ จะเริ่มชะลอตัวลงในปีหน้าจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น และการออกกฎเกณฑ์มาควบคุมของรัฐบาลในหลายประเทศ

Ben Wood หัวหน้าทีมวิจัยของ CCS Insight ระบุว่า เทคโนโลยี Generative AI เป็นที่พูดถึงกันมากในปีนี้ และหลายบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Google, Amazon, Qualcomm และ Meta ได้ทุ่มงบมหาศาลเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา โดยต่างเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ ผลิตภาพ และสังคมทั่วโลก

อย่างไรก็ดี กระแสที่มาแรงในปีนี้อาจไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงที่ว่าเทคโนโลยีนี้ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกหลายประการ ก่อนที่จะสร้างรายได้และทำกำไรให้กับผู้พัฒนาได้

“Generative AI ต้องอาศัยกำลังคอมพิวเตอร์สูงมาก รวมถึงชิปและ GPU เพื่อคำนวณโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อนที่ช่วยให้มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงการใส่เงินเข้าไปอย่างมหาศาล และไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะแบกรับต้นทุนดังกล่าวได้” Wood กล่าว

ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการที่จะทำให้ Generative AI เติบโตช้าลงในปี 2024 คือ การที่รัฐบาลในหลายประเทศมีแผนจะออกกฎระเบียบมาควบคุมเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้การใช้งานมีความปลอดภัยสูงขึ้นและไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในประเทศ โดยคาดว่าสหภาพยุโรปหรือ EU เป็นหนึ่งในชาติแรก ๆ ของโลกที่จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้งาน Generative AI หรือ AI Act ในช่วงปลายปีหน้า

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ที่ปัจจุบันทำงานหลายอย่างแทนที่มนุษย์ได้ เช่น การเขียนเรียงความ การเขียนข่าว การแต่งเนื้อเพลง สร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับในหลายประเทศว่ามันจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การหลอกลวงในการทำธุรกรรมการเงินและประกันภัย

รายงานของ CCS Insight ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2024 การนำเทคโนโลยี Deepfake ซึ่งสามารถลอกเลียนหน้าตาและเสียงของบุคคลอื่นได้มาใช้ก่ออาชญากรรมจะเป็นที่แพร่หลายขึ้น

 

อ้างอิง: