สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนกฎหมายของภาครัฐในหลายประเทศ โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตกที่มีเป้าหมายป้องกันการผูกขาดในตลาด ทำให้การเข้าซื้อกิจการและการควบรวมเป็นไปได้ยากมากขึ้น ส่งผลให้บรรดายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกต่างดิ้นรนค้นหาสารพัดวิธีในการรักษาการเติบโตของบริษัทให้แข็งแกร่งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือหนึ่งในตัวตัดสินการเติบโต
ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น การลงทุนในบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่าง Generative AI จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกล่าสุดที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เลือกใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Generative AI ได้ก่อนใคร
ตัวอย่างล่าสุดก็คือ การลงทุนมูลค่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของ Amazon ในบริษัทสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์อย่าง Anthropic เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นข้อตกลงร่วมลงทุนที่ใหญ่ที่สุด และเป็นตัวอย่างล่าสุดของกระแสตื่นทองของ AI ที่กระตุ้นให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดเปิดคลังทุ่มเงินลงทุนของตนเอง
ทั้งนี้ Anthropic คือผู้พัฒนาที่อยู่เบื้องหลังโมเดล Claude AI ซึ่งแข่งขันกับ ChatGPT จาก OpenAI ที่สนับสนุนโดย Microsoft และ Gemini ของ Google โดยบริษัทเหล่านี้ รวมถึง Meta และ Apple ต่างเร่งแข่งกันที่จะรวม Generative AI เข้ากับพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์มากมายของบริษัท เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทของตนจะไม่ตามหลังในตลาด AI ที่คาดว่าจะทำรายได้สูงสุด 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วงสิบปีนับจากนี้
ข้อมูลจาก PitchBook พบว่า ในปี 2023 มีบรรดานักลงทุนอัดฉีดเงินกว่า 2.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับข้อตกลงลงทุนใน AI เกือบ 700 ข้อตกลง โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 260% จากปี 2022
รายงานยังพบว่า เงินก้อนสำคัญนั้นเป็นการลงทุนด้านกลยุทธ์ที่มาจากบริษัทเทคโนโลยีมากกว่าผู้ร่วมทุนหรือสถาบันอื่นๆ ซึ่ง Fred Havemeyer หัวหน้าฝ่าย AI และการวิจัยซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ ที่ Macquarie แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความกลัวของบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีว่าตนเองจะพลาดการเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อน AI ซึ่งครอบคลุมถึงระบบนิเวศ AI เป็นภาวะ FOMO หรือ Fear of Missing Out
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เงินลงทุนมหาศาลคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี AI เนื่องจากโมเดลต่างๆ ของเทคโนโลยีดังกล่าวมีราคาแพงอย่างมากในการสร้างและฝึกฝน โดยต้องใช้ชิปพิเศษหลายพันตัว ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจาก NVIDIA ยกตัวอย่างเช่น Meta ที่เผยว่าบริษัทกำลังพัฒนาโมเดลของตัวเองที่เรียกว่า Llama ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวได้ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในหน่วยประมวลผลกราฟิกของ NVIDIA ช่วยให้ผู้ผลิตชิปเพิ่มรายได้ต่อปีได้มากกว่า 250%
รายงานระบุว่า ไม่ว่าจะสร้างเองหรือร่วมลงทุน แต่ด้วยมูลค่าเงินมหาศาลทำให้มีบริษัทจำนวนจำกัดที่สามารถเข้าไปในตลาดดังกล่าวในฐานะผู้เล่นได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นอกเหนือจากการพัฒนาชิปแล้ว NVIDIA ยังกลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของซิลิคอนแวลลีย์ โดยเข้าถือหุ้นในบริษัท AI ที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง ส่วนหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ในทำนองเดียวกัน Microsoft, Google และ Amazon ที่บางครั้งเสนอเครดิตระบบคลาวด์เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนของตนเอง
ทั้งนี้ ในข้อตกลง Amazon-Anthropic ที่ประกาศเมื่อวันพุธ (27 มีนาคม) ทั้งสองบริษัทตกลงจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในหลากหลายวิธี ซึ่งรวมถึงการที่ Anthropic จะใช้ Amazon Web Services สำหรับความต้องการด้านการประมวลผล เช่นเดียวกับชิปของ Amazon ที่โมเดลของ Anthropic จะได้รับการจัดจำหน่ายโดย Amazon ให้กับลูกค้า AWS ซึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทาง Anthropic ได้เปิดตัว Claude 3 ซึ่งเป็นโมเดลที่ทรงพลังที่สุด และบอกว่าผู้ใช้สามารถอัปโหลดรูปภาพ แผนภูมิ เอกสาร และข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างประเภทอื่นๆ เพื่อการวิเคราะห์และคำตอบ
ด้าน Microsoft ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายแรกที่เข้าสู่ธุรกิจการลงทุนด้าน Generative AI จากเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุน Generative AI ของ OpenAI ในปี 2019 ขนาดของการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน โดย Microsoft ใช้โมเดลของ OpenAI อย่างหนัก และเสนอบริการโมเดล Open Source บนคลาวด์ Azure
ส่วน Alphabet บริษัทแม่ของ Google ก็ไม่น้อยหน้า โดยบริษัทได้มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไปที่ Generative AI และโมเดล Gemini ที่เปลี่ยนโฉมใหม่ โดยเพิ่มฟีเจอร์ในการค้นหาเอกสาร แผนที่ และอื่นๆ ขณะเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว Google มุ่งมั่นที่จะลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน Anthropic หลังจากก่อนหน้าเข้าถือหุ้น 10% ในสตาร์ทอัพควบคู่ไปกับสัญญาคลาวด์ขนาดใหญ่ระหว่างทั้งสองบริษัท
Havemeyer กล่าวว่า ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีไม่เพียงแค่ทุ่มเงินเข้าสู่วงจรการพัฒนา AI เท่านั้น แต่ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน AI เหล่านี้สอดคล้องกับแผนงานผลิตภัณฑ์ของตน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นับต่อจากนี้ไปจะได้เห็นสตาร์ทอัพ AI ดาวรุ่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เรียกได้ว่าการเป็นพันธมิตรกับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ไม่เพียงแต่ช่วยนำเงินสดมูลค่ามหาศาลที่จำเป็นมากมาสู่สตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถเติบโตและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ด้านคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Trade Commission) ได้ประกาศเมื่อช่วงเดือนมกราคมในการตรวจสอบการร่วมมือดังกล่าว โดยอธิบายว่า การสอบสวนนี้เป็นการสอบถามตลาดเกี่ยวกับการลงทุนและการเป็นหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างนักพัฒนา AI และผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ โดยขอให้บริษัทยื่นรายงานเฉพาะหรือตอบคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับธุรกิจของตน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิบัตรพื้นฐาน (IP) ของบรรดาบริษัทขนาดเล็กในตลาด
ที่มา : thestandard / CNBC