“จิสด้า” จับมือเกาหลี เตรียมสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในไทย เริ่มจากศึกษาความเป็นไปได้ด้วยกัน
สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. และสถาบันวิจัยอวกาศแห่งเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute) หรือการี (KARI) ร่วมลงนามความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยาน (Spaceport) ในประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
การแถลงความร่วมมือในครั้งนี้มี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ GISTDA และ ดร.ลี ซังรยอล (Dr.Sang-Ryool LEE) ประธานบริหารของ KARI และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอว. และมิสเตอร์ แบแจฮยุน (Mr.Bae Jae Hyun) อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานฯ ณ กระทรวง อว. กรุงเทพมหานคร อีกด้วย
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ (space industry/ space economy) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศสู่การพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สำหรับการจัดตั้ง Spaceport มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การได้ร่วมมือกับ KARI ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยอวกาศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)ความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
การศึกษาความเป็นได้ในการสร้าง spaceport ในประเทศไทย จะมี KARI และรัฐบาลเกาหลี เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับคณะทำงานจากประเทศไทยที่นำโดย GISTDA ซึ่งพร้อมสนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมด้านอวกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
การวิจัยดังกล่าวจะคำนึงถึงความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ สถานที่จัดตั้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ชนิดของจรวดนำส่ง ใบอนุญาตและกฎระเบียบข้อบังคับในการนำส่งจรวด รวมทั้งแผนทางด้านธุรกิจ การวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับสังคม เป็นต้น ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้นี้จะต้องเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเวลา 3 ปี เพื่อให้การตั้งท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport เป็นไปอย่างเรียบร้อยและรอบด้าน
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวอีกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาจัดตั้ง Spaceport ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ต่อยอดขยายกิจการอวกาศของประเทศและภูมิภาคให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่กับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ GISTDA