การผลิตทั่วโลกกำลังหดตัว หลังอุปสงค์ลดลงจากผลของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัว

E. Jason Wambsgans/Chicago Tribune/Tribune News Service/Getty Images

CNN รายงานอ้างอิงการสำรวจธุรกิจล่าสุดของ S&P Global ว่าบรรดาผู้ผลิตทั่วโลกกำลังต่อสู้กับอุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมลดลง โดยข้อมูลจากโรงงานต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและทั่วยุโรปพบว่า คำสั่งซื้อใหม่สำหรับสินค้าที่ผลิตในเดือนพฤษภาคมลดลง และคำสั่งการผลิตส่วนใหญ่ที่มีเป็นคำสั่งซื้อที่ค้างอยู่ และยังไม่มีความชัดเจนว่างานในมือที่ค้างอยู่เหล่านี้จะสามารถค้ำจุนอุตสาหกรรมทั่วโลกได้นานแค่ไหน

ข้อมูลของ S&P Global แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ ชาติเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่การสำรวจที่คล้ายกันซึ่งออกโดยสถาบันการจัดการด้านอุปทาน (Institute for Supply Management) แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนพฤษภาคม และเป็นอัตราการหดตัวที่เร็วกว่าเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังแสดงให้เห็นว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานไม่รวมการขนส่ง ซึ่งเป็นหมวดที่มีความผันผวน ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนเมษายน หากไม่รวมกลาโหมยอดสั่งซื้อของโรงงานลดลงในช่วง 4 เดือนจาก 6 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายน

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตในยุโรปเผชิญกับการผลิตตามคำสั่งซื้อใหม่และยอดคงเหลือทั้งหมดลดลงในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากภาคส่วนดังกล่าวหดตัวในอัตราที่เร็วขึ้น โดยข้อมูลตามตัวเลขของ S&P Global ซึ่งวัดจากผลผลิตของผู้ผลิตเหมืองและบริษัทสาธารณูปโภคพบว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร 20 ประเทศลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคม

ด้านสถานการณ์ในจีนก็ไม่ได้ดีไปกว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปสักเท่าไรนัก รายงานระบุว่า แม้สภาพธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตของจีนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ Caixin แต่ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นความโล่งใจชั่วคราว เนื่องจากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการส่งออกจากจีนลดลง 7.5% ในเดือนพฤษภาคมจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม

นักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขการค้าที่สั่นคลอนของจีนสะท้อนถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอสำหรับสินค้าจีน ยังไม่นับรวมปัญหาทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จีนกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการตกต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์

JPMorgan Global Manufacturing PMI รายงานการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ผลิตทั่วโลก พบว่าความเชื่อมั่นดังกล่าวลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม โดย Ariane Curtis นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกที่ Capital Economics ชี้ว่า แม้กิจกรรมในภาคการผลิตจะดูดีขึ้นบ้างในเดือนพฤษภาคม แต่สาเหตุหลักมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นในตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้น ซึ่งแนวโน้มของอุตสาหกรรมโดยรวมยังคงมืดมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

รายงานระบุว่า ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นในภาคการบริโภคทั่วโลกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิดในช่วงปี 2020 ซึ่งผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะโดนบังคับให้ลดการใช้จ่ายด้านบริการ ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ บรรดาผู้บริโภคได้เปลี่ยนการจับจ่ายหาซื้อสินค้ากลับไปใช้จ่ายในภาคบริการ โดยนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปสู่การใช้จ่ายด้านบริการประกอบกับสภาวะทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตสินค้า

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการที่จีนสามารถเปิดประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกมี ‘โมเมนตัมใหม่’ แต่การฟื้นตัวของจีนที่ชะลอลงทำให้ความสามารถในการที่จีนจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง

Tom Garretson นักยุทธศาสตร์พอร์ตโฟลิโออาวุโสของ RBC Wealth Management US พบว่า ความต้องการสินค้าทั่วโลกลดลงในขณะนี้ เนื่องจากแนวทางการบริโภคที่เปลี่ยนการบริโภคสินค้าเป็นบริการ ขณะที่การเติบโตของจีนก็ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้

ยิ่งไปกว่านั้นการที่บรรดาธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงทำสงครามกับอัตราเงินเฟ้อต่อไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะไปควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยอุปสงค์ที่เย็นลงทำให้ธนาคารต้องเข้มงวดกับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของตนในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความล้มเหลวของธนาคารภูมิภาค 3 แห่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในสหรัฐฯ ขณะที่เงื่อนไขด้านสินเชื่อก็เข้มงวดขึ้นในยูโรโซนด้วยเช่นกัน หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารสวิส Credit Suisse และ UBS

สินค้าคงทน (Durable Goods) ซึ่งหมายถึงสินค้าที่มีอายุอย่างน้อย 3 ปี เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะซื้อด้วยระบบเครดิตสินเชื่อเป็นหลัก ดังนั้น เงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดจึงมีผลผูกพันกับผู้ผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การที่ผู้ผลิตทั่วโลกปรับลดจำนวนพนักงานลง หากความต้องการสินค้ายังคงอ่อนตัวลงทำให้คำสั่งซื้อหดตัวลงอีก

จนถึงขณะนี้หลายประเทศเริ่มรายงานสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน

ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณเตือนจากบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ชั้นนำของโลกบ้างแล้ว โดย Liu Young-Way ประธาน Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติและซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple คาดว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์ระบบคลาวด์และเครือข่ายจะทรงตัวในปี 2023 ซึ่งคาดว่าจะลดลงในไตรมาสที่ 2 และบริษัทมี ‘แนวโน้มอนุรักษ์นิยม’ ในอีกหลายเดือนข้างหน้า

ด้าน Monish Patolawala รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ 3M ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิต กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท ‘ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ลดลงอย่างมาก’ ทำให้ 3M ต้องประกาศแผนเลิกจ้างพนักงาน 6,000 คนทั่วโลกในเดือนเมษายน

การสำรวจโดยสมาคมผู้ผลิตแห่งชาติ (National Association of Manufacturers) ที่เผยแพร่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า 67% ของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ที่ทำแบบสำรวจมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคตของบริษัท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 โดยการคงพนักงานที่มีคุณภาพไว้ เศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ และบรรยากาศทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ของผู้ผลิต

 

อ้างอิง: