สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในปี 2566 มีผลต่อการระดมทุนของ Fintech ทั้งในระดับโลกและอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันภาวะโลกร้อนทำให้นักลงทุนทั้งระดับโลกและในอาเซียนให้ความสนใจกับความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ Fintech ที่คิดค้นโซลูชันที่สามารถช่วยให้ธุรกิจเริ่มต้นหรือเดินหน้าบนเส้นทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ หรือ Green Fintech นั้นกลับเป็นที่จับตาในอาเซียน จากข้อมูลส่วนหนึ่งของรายงาน FinTech in ASEAN 2023:Seeding the Green Transition ที่ UOB, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association (SFA) ร่วมกันจัดทำ
เงินทุน FinTech ทั่วโลกร่วงลงหลังทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี
รายงานระบุว่า การระดมทุนของ FinTech ทั่วโลกลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ในปี 2566 โดยเงินที่ Fintech ได้รับลดลงติดต่อกัน 5 ไตรมาส มาที่ 44 พันล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ระดมทุนได้ 58 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในปี 2565 การลงทุนในอาเซียน 6 ประเทศ(อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม) ยังได้รับความสนใจแม้มีแรงกดดันจากภาวยนอก โดยระดมเงินได้ 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตั้งแต่ต้นปีลดลงอย่างรวดเร็วถึง 75% ส่งผลสัดส่วนเงินทุนที่ได้รับต่อ FinTech ทั้งหมดลดลงเหลือ 3% ในปีนี้
การระดมทุนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันของอาเซียนสูงกว่าระดับต่ำสุดในปี 2020
- เงินที่ระดมได้ตั้งแต่ต้นปี 2566 มีมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020
- จำนวนข้อตกลงลดลงมากกว่า 50% (94 เทียบกับ 193 เมื่อเทียบเป็นรายปี) โดยขนาดข้อตกลงโดยเฉลี่ยลดลงสู่ระดับก่อนเกิดโควิด (13.5 ล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ต้นปี 2566 เทียบกับ 9 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562)
- ทั้งจำนวนเงินทุนและจำนวนข้อตกลงลดลงทุกไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 (ดูรูปที่ 4)
- การลงทุนในบริษัทที่อยู่ในระยะเริ่มต้นคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินทุน FinTech ทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนที่ร่วมในการสำรวจได้ระบุถึงแนวคิดใหม่ๆ และการใช้เงินทุนจำนวนน้อยลง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทในระยะเริ่มต้นจึงดึงดูดเงินทุนได้มากขึ้น
- เมื่อพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมมหภาคที่ท้าทาย นักลงทุนพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอย่างใกล้ชิดก่อนเข้าร่วมการระดมทุนรอบใหม่
สิงคโปร์และอินโดนีเซียยังคงเป็นผู้นำการลงทุน FinTech ในภูมิภาค
- สิงคโปร์และอินโดนีเซียมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 86% ของเงินทุน FinTech ทั้งหมดในภูมิภาค
- ฟิลิปปินส์มีส่วนแบ่งเงินทุนลดลงโดยไม่มีข้อตกลงสำคัญใดๆ ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน
- ในปีนี้ เวียดนามและมาเลเซียมีสัดส่วนข้อตกลงภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (6% และ 4% ตามลำดับ)การลงทุนใน Fintech ใน 6 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งลดลงอย่างมากประมาณ 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
FinTech ในระยะเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนมากขึ้น
- จำนวนเงินทุนเฉลี่ยของบริษัทที่ได้รับทุนสนับสนุน 10 อันดับแรกลดลงมากกว่า 50% ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงขณะนี้ เหลือ 94 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีข้อตกลงขนาดใหญ่เพียง 3 ข้อตกลง (ข้อตกลงที่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งคิดเป็นเกือบ 50% ของข้อตกลงของเงินทุน FinTech ทั้งหมด
- แม้ Fintech ด้านการชำระเงินจะครองตำแหน่ง 10 อันดับแรกในปี 2565 แต่ในปีนี้ FinTech ก็มีการกระจายหมวดหมู่มากขึ้น โดยมี 3 ข้อตกลงขนาดใหญ่ ในด้านการให้สินเชื่อทางเลือกใหม่(alternative lending), เทคโนโลยีประกันภัย และเทคโนโลยีธนาคาร
ความสนใจของนักลงทุนในภาค Green FinTech / GreenTech ของอาเซียนเพิ่มขึ้น
- แม้การระดมทุนของ GreenTech จะลดลง ในปีนี้ แต่เงินทุนที่ระดมได้ 169 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นสูงกว่าปี 2564 ที่มีมูลค่ารวม 129 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มว่าข้อตกลงการระดมทุนก็จะมากกว่าด้วย
- จำนวนเงินทุนโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จาก 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 เป็น 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐนับตั้งแต่ต้นปี 2566
- นักลงทุนที่ร่วมให้ความเห็น ระบุถึงการเลือกการจัดการและการรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงโซลูชันการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นด้านสำคัญในการเติบโตของ Green FinTechs
- จากการที่หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้ข้อกำหนดการรายงานสภาพภูมิอากาศกับธุรกิจต่างๆมากขึ้น สตาร์ทอัพ GreenTech และ Green FinTech ที่นำเสนอโซลูชันด้านความยั่งยืนเชิงนวัตกรรมมีข้อได้เปรียบในการเติบโต
การมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความต้องการ Green FinTech ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
ในแง่หน่วยงานกำกับดูแล มีการเน้นการรายงานความยั่งยืนทั่วอาเซียนมากขึ้น โดยบริษัทต่างๆได้รับการคาดหวังว่าจะเปิดเผยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในแง่ผู้บริโภค Gen Z เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ด้วยความชอบผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความยั่งยืนภายในธุรกิจจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ
ในแง่นักลงทุน สถาบันการเงิน (FIs) และพนักงานกำลังกดดันบริษัทต่างๆ ให้ใช้กลยุทธ์ที่ยั่งยืนมากขึ้นและรายงานความคืบหน้า แม้แต่ซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ก็ยังกระตือรือร้นที่จะนำโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งสามารถเปิดช่องไปสู่สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน และมีส่วนต่อข้อกำหนดการรายงานของบรรษัทข้ามชาติ
Green FinTechs คือ บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เพื่อการใช้งานกระบวนการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ ที่มีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนต่อการเข้าสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และสามารถช่วยให้องค์กรต่างๆรายงานความยั่งยืนที่มีคุณภาพและได้รับการความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใสในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลคาร์บอนบริษัท Green FinTech สามารถจัดหมวดหมู่ตามบริการที่นำเสนอ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การรวบรวมข้อมูล บริการคาร์บอน โครงสร้างพื้นฐาน การรายงาน และช่วยในด้านขั้นตอนการดำเนินงานด้านการกำกับดูแล(RegTech)แนวโน้ม FinTech
แม้การระดมทุน FinTech ที่ลดลงนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มขาลงของภาคเทคโนโลยี แต่มีแนวโน้มบางอย่างที่ได้รับการจับตา ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวที่อาจเกิดขึ้น โดยส่วนหนึ่งรวมถึงการเร่งกระบวนการดิจิทัลของอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่(emerging market) ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น แอปพลิเคชัน generative AI ในฟินเทค ซึ่งสามารถช่วยปรับเปลี่ยนนวัตกรรมฟินเทคได้การดำเนินการเป็นระยะๆของ open banking ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้บุคคลที่สามสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้ทั่วทั้งภูมิภาค ยังถือเป็นการเปิดฉากยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในการจัดการข้อมูลทางการเงินและการเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน สัญญาณเชิงบวกดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเมินว่าการระดมทุนของ Fintech จะฟื้นตัว
ที่มา ไทยพับลิก้า