หลายคนคงอยากจะทราบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เครือฯ ได้รับสิทธิ์ในการบริหารมีความคืบหน้ามากน้อยขนาดไหน ลองไปไล่เรียงกันดูค่ะ
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 บริษัท เอเชีย เอรา วันจํากัด หรือ ซึ่งประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เซ็นสัญญาร่วมทุน (PPP) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 50 ปี
ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟฯ
- ส่งมอบพื้นที่เฟสแรก “ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ครบ 100% ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีผู้บุกรุก 302 หลังคาเรือน (อาจจะล่าช้า หากมีการร้องเรียน แต่คาดว่าจะช้าสุดไม่เกินเดือนสิงหาคม 2564
- ส่งมอบพื้นที่ระยะที่ 2 “ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” ใช้เวลาดำเนินการอีก 2 ปี 3 เดือน มีผู้บุกรุก 267 หลังคาเรือน คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2566
- ส่งมอบพื้นที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2564 และพร้อมให้บริการโดยไร้รอยต่ออย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มซีพีและพันธมิตรในเดือนตุลาคม 2564
คุณธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด คาดว่ารฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2564 โดยอย่างช้าไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งยังคงเป็นไปตามสัญญา
การเวนคืนที่ดิน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 รฟท. สรุปรายละเอียดการเวนคืนที่ดิน พบผู้ได้รับผลกระทบ 679 หลังคาเรือน พื้นที่ 923 ไร่ มีการกำหนดราคาชดเชยในราคาค่อนข้างสูงกว่าราคาประเมินประมาณ 3-6 เท่า คาดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายค่าชดเชยได้ในเดือนมกราคม 2564
นอกจากนี้ มีการย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ จำนวน 302 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ระกว่างการเจรจา คาดว่าจะเรียบร้อยภายในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งจะมีการยกเลิกสัญญาเช่าจำนวน 213 สัญญา โดยจะดำเนินการยกเลิกสัญญาเช่าให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งการรื้อย้ายสาธารณูปโภคจำนวน 756 จุด หน่วยงานเจ้าของแต่ละระบบกำลังรื้อย้ายแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564
การบริการงานรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์
กลุ่มซีพีได้เข้าสำรวจทรัพย์สินและระบบรถไฟฟ้า โดยตรวจสอบดังนี้
- การตรวจสอบสถานะด้านเทคนิค
- การเตรียมความพร้อมการเดินรถ
- การปรับปรุงบริการให้ผู้โดยสาร
- การปรับปรุงอาคารสถานี
- การปรับระบบเพื่อรองรับการเดินรถ
ทั้งนี้ คาดว่า การเข้าไปดำเนินงานในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อาจจะล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ที่จะเข้ามาดูแลโครงการฯ ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งตามกำหนดการรับมอบจะช้าสุดได้ไม่เกินเดือนตุลาคม 2564
การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์
การพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีในเชิงพาณิชย์ ที่เราเรียกว่า TOD ในพื้นที่มักกะสัน 140 ไร่นั้น ได้มีการลงพื้นที่สำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่ติดปัญหาการรื้อย้ายพวงรางของโรงงานซ่อมหัวรถจักรเก่า
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการปรับย้ายสถานี ซึ่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ว่า การย้ายที่ตั้งสถานีเป็นสิทธิตามสัญญาของผู้ชนะการประมูล หากพื้นที่ใหม่มีประโยชน์มากกว่า แต่จะต้องได้รับการอนุมัติจาก รฟท. ก่อน
การดำเนินงานด้านความยั่งยืน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ 7 ท่าน ประกอบด้วย
- ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
- ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- คุณธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้า จังหวัดชลบุรี
- คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 กลุ่มซีพีและพันธมิตรได้นำคณะที่ปรึกษาฯ สำรวจเส้นทางรถไฟกว่า 220 กม. เพื่อให้เห็นภาพรวมของโครงการฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็น “อภิมหาโปรเจค” จำนวนเงินลงทุนมหาศาลและพื้นที่ก่อสร้างมีผู้ได้รับผลกระทบตลอดแนวเส้นทางกว่า 220 กม. เป็นจำนวนมาก ซึ่งตามสัญญาในการก่อสร้างระบุไว้ว่า จะต้องไม่ทำให้การบริการเดินรถไฟในเส้นทางปกติหยุดชะงัก และที่สำคัญพื้นที่โครงการมีระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน ที่มีความอันตรายและต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เช่น สายไฟแรงสูง ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : จาก FB รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา
https://www.facebook.com/845843805608115/posts/1508069859385503/?extid=0&d=n