Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ระดับโลกได้จัดอันกับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานที่เข้าไปทำงานต่างประเทศในปี 2023 พบว่า ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก
Mercer สำรวจค่าครองชีพในเมืองต่าง ๆ ออกมาเป็นดัชนี Cost of Living Index โดยใช้ค่าครองชีพของ New York City เป็นแกนหลักเพื่อนำค่าครองชีพจากเมืองอื่น ๆ มาเปรียบเทียบด้วยหน่วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลสำรวจครอบคลุม 400 เมือง
ส่วนในปีนี้ การจัดอันดับครอบคลุมทั้งหมด 227 ประเทศจาก 5 ทวีปทั่วโลก เปรียบเทียบจากค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ มากกว่า 200 ด้านในแต่ละเมือง รวมทั้งค่าที่พักอาศัย การเดินทาง อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ภายในบ้าน ไปจนถึงความบันเทิงและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
สำหรับ 10 เมืองแรกที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกสำหรับแรงงานต่างชาติในปีนี้ มีดังนี้
- ฮ่องกง
- สิงคโปร์
- ซูริค (สวิสเซอร์แลนด์)
- เจนีวา (สวิสเซอร์แลนด์)
- บาเซล (สวิสเซอร์แลนด์)
- นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)
- เบิร์น (สวิสเซอร์แลนด์)
- เทลอาวีฟ (อิสราเอล)
- โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก)
- แนสซอ (บาฮามาส)
ข้อมูลบนเว็บไซต์ Numbeo และ Expatistan เผยค่าครองชีพในฮ่องกงทั้งค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น
- อาหาร Fast Food มื้อละ 44-45 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 200 บาท
- ค่าฟิตเนสเดือนละ 588.36 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 2,633 บาท
- น้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 22.66 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 101.41 บาท
- ค่ารถโดยสารสาธารณะรายเดือนอยู่ที่ 484-500 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 2,165-2,237 บาท
- เช่าอพาร์ทเม้นท์ 1 ห้องนอนใจกลางเมืองรายเดือนอยู่ที่ 18,066.67 ดอลลาร์ฮ่องกงหรือราว 80,865 บาท
แม้ว่าฮ่องกง สิงคโปร์ และซูริคจะเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก แต่คุณภาพชีวิตของคนในเมืองก็ดีตามไปด้วย วัดจากการจัดอันดับ Quality of Living ที่จัดให้ทั้ง 3 เมืองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 78 ส่วนสิงคโปร์และซูริคอยู่ในอันดับ 33 และอันดับ 2 ตามลำดับ ส่วนเมืองที่มีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในโลก คือ เวียนนา ประเทศออสเตรีย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองต่าง ๆ มีค่าครองชีพพุ่งสูงมาจากสถานการณ์ที่ประสบกันมาแล้วในปี 2022 ทั้งสงครามยูเครน-รัสเซีย ผลกระทบที่มาจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศต้องรับมือด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่มาในรูปของนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้สถานการณ์การเงินทั่วโลกฟืดเคือง จนเกิดการว่างงาน หนี้สาธารณะ จนมาถึงเงินเฟ้อที่กระทบในระดับบุคคล
การที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อแรงงานต่างชาติที่เข้ามาหาโอกาสในประเทศต่าง ๆ หลังจากช่วงโควิด-19 ที่มีการปลดล็อกการทำงานในออฟฟิศไปสู่การทำงานทางไกลที่ไหนก็ได้ ทำให้ฝั่งพนักงานเองมีทางเลือกมากขึ้นและมีเวลาจัดลำดับความสำคัญใหม่ ให้มี Work-Life Balance มากขึ้น ส่วนนายจ้างเองก็ต้องวางแผนว่าจะจัดการพนักงานที่กระจายอยู่ทั่วโลกอย่างไร
ส่วนประเทศไทย กรุงเทพได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่อยู่ในกลุ่มค่าครองชีพต่ำและคุณภาพชีวิตต่ำ โดยอยู่ในอันดับที่ 105 ในการเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุด และเป็นอันดับที่ 130 เมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด
ที่มา – Mercer, Numbeo, Expatistan Brand Inside