ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) พบว่า “ภาวะเครียดจากความร้อน” (heat stress) อาจทำให้สิงคโปร์สูญเสียทางเศรษฐกิจ จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิดในปี 2561 เกือบ 2 เท่า สู่ระดับประมาณ 1,640 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578
ย้อนกลับไปในปี 2561 ภาวะเครียดจากความร้อนกระทบความสามารถในการผลิตในภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง 4 ภาคของสิงคโปร์ ลดลง 11.3% ซึ่งได้แก่ ภาคบริการ การก่อสร้าง การผลิต และภาคการเกษตร และจะส่งผลกระทบย่ำแย่ลงไปอีก
รายงาน Project Heat Safe ของเอ็นยูเอส ระบุว่า ความสามารถในการผลิตจะลดลงไปอีกจนถึงระดับ 14% ในปี 2578 ซึ่งเมื่อคำนวณเงินเฟ้อแล้วพบว่าทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,640 ล้านดอลลาร์ และการสูญเสียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อแรงงานเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อาทิ แรงงานที่ทำงานตากแดด หรือคนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องจักร
รายงานระบุ “คาดว่าในทุกวันที่มีอากาศร้อน ความสามารถในการผลิตของแรงงานจะลดลงในช่วงเวลาทำงาน” ซึ่งหมายความว่า แรงงานจะสูญรายได้เฉลี่ย 21 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน (ราว 570 บาท/คน) นอกจากอากาศร้อนส่งผลกระทบต่อความสามารถทางสติปัญญา และร่างกายแล้ว ผลวิจัยจากเอ็นยูเอสยังพบว่า อากาศร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ด้วย ซึ่งตอนนี้อัตราดังกล่าวตกต่ำเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ Project Heat Safe เป็นการวิจัยขนาดใหญ่โครงการแรกของสิงคโปร์ และเป็นโครงการแรกในภูมิภาค ที่จัดทำเพื่อประเมินผลกระทบของระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้น ต่อความสามารถในการผลิต ระดับสุขภาพส่วนบุคคล ไปจนถึงระดับเศรษฐกิจมหภาค
“นาตาเลีย บอร์ซิโน” จาก Singapore-ETH Centre ผู้ร่วมจัดทำรายงาน Project Heat Safe เผยว่า รายงานใช้ข้อมูลในปี 2561 เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 และถือเป็น “ปีที่เป็นปกติ” ปีสุดท้ายที่ทีมวิจัยมีข้อมูล
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอากาศร้อนเร็วกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกเป็น 2 เท่า และดัชนีรังสียูวีเพิ่งแตะระดับรุนแรงเป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลาเพียง 4 วัน ซึ่งเป็นระดับรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ที่สูงที่สุดของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การอัปเดตข้อมูลล่าสุดในวันพุธ (3 มี.ค.67) สะท้อนให้เห็นว่า รังสีอยู่ในระดับปานกลางแล้ว
ซีเอ็นบีซี ระบุว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เผชิญกับความร้อนรุนแรง เมื่อเดือนก.พ.67 นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่า อุณหภูมิโลกเกินเกณฑ์ภาวะโลกร้อนตลอดทั้งปี 2566 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเตือนเมื่อเดือนก.ค. ปีก่อนว่า โลกได้ข้ามผ่านภาวะโลกร้อนไปสู่ “ยุคแห่งโลกเดือด” แล้ว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / CNBC