นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดงานสัมมนาประจำปี 2567 ของสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย “เจาะลึกปัญหาสินเชื่อกับหนี้ครัวเรือน และทางออก” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และมีสัดส่วนต่อ GDP ของถึงราว 10% ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนใหญ่มากต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะสัดส่วนของการพัฒนาและขายที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนสูงถึง 7% ของ GDP ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความเกี่ยวข้อง และมีผลกระทบต่อกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งต้นน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเครื่องจักร และวัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นภาคการเงินที่มีการให้สินเชื่อ และมีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย ผ่านการสนับสนุนในมาตรการต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเงื่อนไขในการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เพิ่มขึ้น ทั้งจากสถาบันการเงินของรัฐ และภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา เพื่อยกระดับมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย
โดยเฉพาะที่เรียกร้องเข้ามามากในการขยายเพดานราคาที่อยู่อาศัย ที่เข้าร่วมมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นไปที่ 5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ประกอบกับการขยายระยะเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 3 ปี เนื่องจากบางโครงการมีการพัฒนาก่อสร้างเกิน 3 ปี ทำให้มีการเรียกร้องมาให้มีการปรับปรุง ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวใช้มาแล้ว 5-6 ปี ซึ่งจะมีการปรับปรุงและขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เหมาะสม
“ตอนนี้ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาอยู่ เช่น ถ้าบ้านที่ราคาเกิน 3 ล้านบาท จะให้หักในส่วนของ 3 ล้านบาท เพื่อรับสิทธิตามมาตรการได้ไหม ยอมรับว่าที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ขอเรื่องนี้เข้ามาค่อนข้างมาก ก็พยายามพิจารณาให้อย่างเต็มที่” รมช.คลัง กล่าว
ส่วนด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยที่มีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นธนาคารของรัฐบาลในการเป็นผู้นำในการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนนั้น ปัจจุบันโครงการสินเชื่อบ้านล้านหลังของ ธอส. ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเรื่องเพดานสินเชื่อไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยยอมรับว่าปัจจุบันการซื้อบ้านราคา 1.5 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างหายาก ซึ่ง ธอส. ได้เสนอขอให้ขยายเพดานสินเชื่อดังกล่าว โดยกระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าอาจจะปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ยังคงมีการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่เป็นลูกค้าสินเชื่อบ้านในการนำร่องลดอัตราดอกเบี้ยลงมา เพื่อทำให้ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของประชาชนลดลง สำหรับปัญหาความสามารถในการซื้อและกู้ยืมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประชาชน อาจจะมีผลกระทบบ้างจากการที่เศรษฐกิจไม่ได้โตตามที่รัฐบาลคาดหวังในปีก่อน
แต่ทั้งนี้ ความเป็นห่วงหนี้เสียที่มาจากการกู้ยืมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนยังไม่น่ากังวล แม้ว่าหนี้สิยครัวเรือนจะสูงถึง 90% หรืออยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท เพราะเมื่อดูจากข้อมูลหนี้เสียที่มาจากการกู้ยืมสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีน้อยมาก และหากมีการปรับขึ้นมาก็ปรับขึ้นไม่เยอะมาก แต่อาจจะมีความเป็นห่วงกลุ่มที่เป็น Special Mention (SM) ที่เป็นลูกหนี้บัญชี 21 ที่เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบโควิด-19 ที่อาจจะยังมีความเสี่ยงที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังไม่กระทบต่อภาพรวม และไม่กังวลว่าหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะเข้ามากระทบภาพรวมของเศรษฐกิจ
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์