“สิรินุชเบตต้าฟาร์ม” เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากัดในหมู่บ้านเดียวกัน ก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ปี 2558 เพื่อส่งออกปลากัดในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก วิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจด้วยการส่งออกเป็นหลักแทบจะตั้งรับไม่ไหวเมื่อไม่ได้เตรียมแผนสำรองกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน
นับเป็นโอกาสดีที่ทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร (IAM) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) นำโดย ดร. ณภัทร กำธรสิริวิมล ได้ลงพื้นที่ศึกษาทิศทางการดำเนินธุรกิจก่อนสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงที่วิสาหกิจปลากัดนี้พอดี จึงได้เกิดการผสานความร่วมมือกับคุณก้อย – สิรินุช ฉิมพลี เจ้าของ “สิรินุชเบตต้าฟาร์ม” วางแผนการจัดการธุรกิจและตลาดจากต่างประเทศกลับมาในประเทศไทย
โดยทีม IAM เริ่มตั้งแต่การรีแบรนด์ในชื่อ “The Sakana Ville by Sirinut Betta Farm” พร้อมเปิดช่องทางการสื่อสารการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงวางแผนการตลาดด้วยการผนวกหลายศาสตร์ อาทิ วิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ เข้ามาในแผนการตลาดยุค New Normal วางจำหน่ายชุดการเรียนรู้เกี่ยวกับปลากัด ได้แก่ ชุด Play วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้ออกห่างจากหน้าจอ ปรับพฤติกรรม สร้างความอ่อนโยนและความรับผิดชอบ, ชุด Learn เป็นสื่อสารการเรียนการสอนเชิงชีววิทยาในรูปแบบ Stem ที่ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ไว้ด้วยกัน เพื่อให้เรียนรู้ตั้งแต่การเกิดขึ้นของอาหารที่นำมาเลี้ยงปลาหรือห่วงโซ่อาหารนั่นเอง
นอกจากนี้ยังได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงปลากัดอย่างยั่งยืนด้วยการเปิดคอร์สสอนการเพาะพันธุ์ปลากัดสำหรับผู้สนใจทั่วไปและผู้ต้องการประกอบอาชีพเลี้ยงปลากัดเกรดพรีเมี่ยมจำหน่าย ตั้งเป้าเป็น “โรงเรียนสอนการเพาะพันธุ์ปลากัดแห่งแรกในโลก”