IMF คาด การเติบโตของ GDP โลกปีนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากจีน-อินเดีย พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้เป็นขยายตัว 5.2%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากได้รับแรงหนุนหลักจากการฟื้นตัวของจีนและอินเดีย สวนทางกับส่วนที่เหลือของโลก ที่กำลังเตรียมรับมือกับการชะลอตัวจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

IMF คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะขยายตัว 4.6% ในปี 2023 ปรับเพิ่มจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคมที่ 4.3% และถือว่าเร่งตัวเร็วขึ้นเทียบกับปี 2022 ที่เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกขยายตัว 3.8%

รายงาน Regional Economic Outlook: Asia and Pacific ฉบับล่าสุด ยังระบุอีกว่า เอเชียและแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคหลักของโลกที่มีพลวัตมากที่สุดในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มที่สดใสของจีนและอินเดีย ซึ่งตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของภูมิภาคนี้จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกประมาณครึ่งหนึ่งในปีนี้ ขณะที่ทั้งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของ GDP โลกประมาณ 70%

 

 

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ IMF ได้เพิ่มแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว เป็น 5.2, 4.5, 6 และ 4% ตามลำดับ

แต่ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทั้งปีของอินเดียลง โดย IMF ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จะขยายตัว 5.9% ในปีนี้

สำหรับประเทศไทย IMF ลดคาดการณ์ GDP ทั้งปีนี้ไว้ที่ 3.4% ลดลงจากรายงานฉบับก่อนหน้าที่ 3.7%

 

เศรษฐกิจพัฒนาแล้วในเอเชีย-แปซิฟิกจ่อชะลอตัวลง

แม้ว่าภาพรวมของภูมิภาคจะดูดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากตลาดเกิดใหม่ โดย IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์ GDP สำหรับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ลง

รายงานระบุว่า “อุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่งขึ้นจากจีนจะช่วยเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในภูมิภาคนี้ แต่เศรษฐกิจส่วนใหญ่คาดว่าจะถูกถ่วงน้ำหนักโดยปัจจัยภายนอกและภายในประเทศอื่นๆ”

IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตของญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 1.3% เพื่อสะท้อนถึง อุปสงค์และการลงทุนจากภายนอกที่อ่อนแอลง

นอกจากนี้อุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จากการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยังคาดว่าจะทำให้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงเหลือ 1.6 และ 1.1% ตามลำดับ

“แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้วของเอเชียคาดว่าจะคงอยู่นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงาน World Economic Outlook เมื่อเดือนตุลาคม 2022 เนื่องจากการเติบโตของค่าจ้างได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์” IMF ระบุในรายงาน

 

จีนจ่อสร้างอานิสงส์ให้หลายประเทศในภูมิภาค

การบริโภคที่ฟื้นตัวในจีนมีแนวโน้มที่จะกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย-แปซิฟิก IMF ระบุ พร้อมเสริมว่า การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น ซึ่งจะผลักดันการเติบโตของจีนให้ฟื้นตัวมากกว่าตัวขับเคลื่อนอื่นๆ เช่น การลงทุน

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นจากการฟื้นตัวของจีนจะแตกต่างกันไปสำหรับในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักน่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม IMF เตือนว่า เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากความตึงเครียดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจากจีน โดยก่อนหน้านี้ IMF เคยประเมินว่า ความตึงเครียดทั่วโลกอาจขัดขวางการลงทุนในต่างประเทศ และนำไปสู่การสูญเสียระยะยาวราว 2% ของ GDP โลก

 

อ้างอิง: