อีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมที่ส่งเข้ามาประกวดของมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2020 ที่น่าสนใจคือ ”นวัตกรรมซั้งเทียม” ซึ่งเป็นผลงานของฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯ CPG ประกอบด้วย ดร.อธิป อัศวานันท์ คุณธัญวรัตน์ พรพนาวัลย์ คุณปฐพร เกื้อนุ้ย คุณณวัฒน์ คำนูณวัฒน์ คุณอรดา วงศ์อำไพวิทย์ คุณชญานี บุญสน คุณบดินทร์ ศิริรักษ์ คุณอภิษฎา เทพไชย คุณธีระวัฒน์ ชูศรีนวล คุณอาสาฬห สินโพธิ์
ที่มาของความคิดริเริ่ม
ทีมงานนี้เล่าว่าทีมงานได้ขับเคลื่อนงานสังคมในนามของเครือซีพี ได้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ และมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลควบคู่ไปกับการส่งเสริมศักยภาพชุมชนประมงชายฝั่ง จึงได้สนับสนุนการจัดทำโครงการซั้ง (บ้านปลา) เพื่อการอนุรักษ์รูปแบบใหม่ที่มีองค์ประกอบของนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอยู่ด้วยกัน คือ 1) นวัตกรรมทางสังคมเกิดจากรูปแบบใหม่ของการจัดการซั้งโดยชุมชนที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนจากการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยการนำสัตว์น้ำที่ได้จากซั้งไปขาย ทั้งกับตลาดและกับชุมชนอื่น ๆ เพื่อเพาะขยายพันธุ์ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาแบ่งเพื่อการซ่อมแซมซั้ง หรือทำสาธารณะประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อไป เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนต่อเนื่องให้ชุมชนครั้งละประมาณ 32,000 บาท
ในขณะที่รูปแบบการดำเนินการทั่วไปนั้น เป็นการลงทุนแบบครั้งต่อครั้งและไม่ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน ชุมชนต้องพึ่งพาหน่วยงานภายนอกเสมอ 2) นวัตกรรมทางเทคโนโลยี คือการคิดค้นรูปแบบการทำซั้งขึ้นมาใหม่ โดยการใช้สิ่งเหลือใช้จากการผลิตของบริษัท (เช่น เปลือกไข่) และยางพาราที่เป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาได้ง่าย สร้างเป็นซั้งที่มีคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทดทาน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบทั่วไปที่ใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายในเวลาเพียง 1-2 เดือน หรือการนำเชือกใยยักษ์มาที่มีส่วนผสมของพลาสติกมาใช้นั้น ซั้งรูปแบบใหม่ส่งผลให้ชาวประมงลดค่าใช้จ่าย 2.2 เท่า จากการลงทุนลงแรงในการทำซั้งและยืดอายุซั้งเทียมไปถึงประมาณ 5 ปี และยังช่วยลดปัญหาไมโครพลาสติกในทะเลอีกด้วย
กว่าจะมาเป็นนวัตกรรม
ทีมงานยังได้เล่าถึงที่มาของความคิดเนื่องจากปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะชุมชนประมงชายฝั่งซึ่งมีรายได้จากทรัพยากรทางทะเลเป็นหลัก ทำให้ชุมชนมีความต้องการที่จะจัดทำโครงการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยกรทางทะเล แต่การทำงานอนุรักษ์ต่าง ๆ นั้นต้องอาศัยทุนทรัพย์ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยและเป็นค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯ จึงได้ริเริ่มแนวทางการทำงานอนุรักษ์รูปแบบใหม่ที่จะทำให้ชุมชนมีรายได้หมุนเวียนเพื่องานอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมกับชุมชนจัดทำซั้ง (บ้านปลา) เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการทำซั้งจะมีการกำหนดกติกาการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น มีการกำหนดเขตพื้นที่และระยะเวลาเพื่อการอนุรักษ์ที่จะมีการจำกัดกิจกรรมทางประมงเพื่อให้สัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตต่อไป เมื่อถึงเวลาที่กำหนดชาวประมงก็จะสามารถไปใช้ประโยชน์จากบริเวณซั้งได้ตามปกติ และซั้งก็จะถูกทิ้งให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามการทำซั้งในรูปแบบดังกล่าว มีข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำซั้งทุกครั้งที่ต้องการทำ มีการลงแรงของชุมชนทุกครั้งในการช่วยกับประกอบและไปวางซั้ง และซั้งที่ไม่ถูกเก็บกู้อาจเกิดเป็นขยะทะเลได้ สามารถก่อให้เกิดเป็นไมโครพลาสติกหากใช้เชือกพลาสติกร่วมในการจัดทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
จึงได้ร่วมกับชุมชน ออกแบบวิธีการที่จะทำให้ชุมชนสามารถทำกิจกรรมอนุรักษ์ดังกล่าวโดยการพึ่งพาหน่วยงานภายนอกให้น้อยที่สุด ซึ่งหมายความถึงความสามารถในการจัดการรายได้เพื่อให้ชุมชนสามารถซ่อมแซมซั้งได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากการสังเกตว่าการทำซั้งในบริเวณพื้นที่นำร่อง (ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช) จะพบว่ามีสัตว์น้ำประเภทหอยมาเกาะติดซั้งด้วย นอกเหนือจากปลาที่พบได้ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไป จึงเกิดความคิดว่าหากมีการเก็บกู้ซั้งขึ้นมาด้วยแล้ว ชุมชนจะได้รายได้จากการขายหอยดังกล่าวด้วย ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะไม่ถูกนำไปเป็นรายได้ของชาวประมงแต่ละคน แต่จะถูกนำมาใช้เพื่อการซ่อมแซมซั้ง การขยายพันธุ์หอยในพื้นที่อื่น หรือทำสาธารณะประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อไป
นอกจากนี้จากการจัดทำซั้ง (บ้านปลา) ที่ผ่านมาโดยการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว เชือกป่านมะนิลา และเชือกใยยักษ์ ซึ่งทีมได้มีการดำน้ำสำรวจสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณซั้งกอ ภายหลังการติดตั้งเพียง 2 เดือน พบว่าทางมะพร้าวมีการย่อยสลายไปเกือบหมด แต่ยังพบสัตว์น้ำที่เข้ามาอยู่อาศัยอยู่และเกาะติดกับซั้ง ทางฝ่ายฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาวัสดุในการทำซั้งกอที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุเหลือใช้ มีความคงทน ประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้ใยยักษ์เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะเกิดไมโครพลาสติกในทะเลได้ ประกอบกับในปัจจุบันราคายางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่มีความตกต่ำ ดังนั้น การนำยางพารามาแปรรูปถือเป็นช่องทางหนึ่งในการนำยางพารามาใช้ประโยชน์และฟาร์มไก่ไข่ของเครือฯ ก็มีเปลือกไข่ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ โดยไข่ไก่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลัก ดังนั้น การผสมวัสดุดังกล่าวข้างต้นเข้าด้วยกันและขึ้นรูปให้เป็นซั้งเทียมถือเป็นการสร้างวัสดุชิ้นใหม่ที่ยั่งยืน
กระบวนการ+เทคโนโลยีนำไปสู่ซั้งเทียม
ทีมงานนี้ยังเล่าลึกลงไปอีกว่า นวัตกรรมของโครงการนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้านด้วยกันคือ ด้านกระบวนการ และด้านเทคโนโลยี คือ 1) นวัตกรรมด้านกระบวนการทำงาน (Innovative Process and Social Innovation) กระบวนการการทำซั้งแบบเดิมหรือแบบทั่วไปนั้นเป็นการดำเนินการแบบเส้นตรง (linear) กล่าวคือ ทุกครั้งที่ชุมชนจะต้องการจะทำโครงการ ชุมชนจำเป็นต้องหาแหล่งทุนจากหน่วยงานภายนอกไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนต่าง ๆ เป็นครั้งๆ ไป หลังจากนั้นชุมชนจะสร้างซั้งด้วยตนเอง กำหนดวันวางซั้ง และกำหนดกติกาชุมชนในการทำประมงในบริเวณซั้งและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดการทำประมงในบริเวณดังกล่าวจึงจะทำได้อีก โดยทั่วไปแล้วระยะเวลานี้จะสอดคล้องกับอายุการใช้งานของซั้งที่ใช่วัสดุจากธรรมชาติโดยตรง (เช่น ใช้ทางมะพร้าว) ซึ่งมีอายุสั้น และจะไม่มีการเก็บกู้ขึ้นมา หากชุมชนใดๆ ใช้วัสดุที่มีความคงทนมากขึ้น เช่น เชือกที่ผลิตจากพลาสติก ซั้งก็จะถูกปล่อยไว้ในทะเลจนกว่าจะชำรุดหลุดลอยหรือจมไปในที่สุด
แต่รูปแบบใหม่นั้นการดำเนินการเป็นระบบหมุนเวียน กล่าวคือมีวิธีการที่จะนำรายได้ที่ผลิตจากซั้งเองมาซ่อมแซมซั้งเก่า ทำให้ชุมชนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งทุนจากหน่วยงานภายนอกทุกครั้งที่ต้องการทำกิจกรรมอนุรักษ์ดังกล่าว ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการใหม่นี้อาศัยการจัดการซั้งที่แตกต่างออกไปคือ 1. มีการให้ความรับผิดชอบของคนในชุมชน ซั้ง 5 ต้นต่อหนึ่งคน 2. มีการเก็บกู้ซั้ง 3. มีการหารายได้จากซั้ง (เพื่อนำมาซ่อม) 4. มีการซ่อมแซมซั้ง 5. มีการเก็บข้อมูลติดตามผล ตารางที่ 1 แสดงข้อแตกต่างระหว่าง รูปแบบเก่า และรูปแบบใหม่ พร้อมแสดงข้อดีที่ได้จากการเปลี่ยนไปดำเนินการซั้งรูปแบบใหม่ ทีมงานบอกอีกว่าปัจจัยที่นำไปสู่การคิดค้นกระบวนการใหม่เป็นผลจาก การทำงานร่วมกับชุมชนทุกกระบวนการตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน การเก็บข้อมูล เพื่อให้เกิด innovative solution ที่มีประโยชน์และสามารถทำได้จริง อีกทั้งยังเป็นการเสริมศักยภาพให้กับชุมชนอีกด้วย และชุมชนสามารถตกลงแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลรักษาซั้ง และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อสร้างการรวมกลุ่มและความเข้มแข็งให้กับชุมชนเอง
นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี (Innovative Technology) รูปแบบของซั้งในปัจจุบันผลิตขึ้นจากวัสดุ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ซั้งจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ทางจาก หรือกิ่งไม้ (รูปที่ 2) 2. ซั้งจากวัสดุเชือก เช่น เชือกใยยักษ์ (รูปที่ 3) โดยวัสดุทั้ง 2 รูปแบบ มีจุดอ่อนของวัสดุ เช่น ซั้งจากวัสดุธรรมชาติจะไม่ความคงทน ย่อยสลายได้ง่ายมีอายุเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ส่วนซั้งจากวัสดุเชือก แม้จะมีความคงทนกว่าซั้งจากวัสดุธรรมชาติ แต่เมื่อเชือกมีการย่อยสลายจะกลายเป็นปัญหาไมโครพลาสติก ดังนั้น แนวความคิดของซั้งรูปแบบใหม่หรือที่เรียกว่า ซั้งเทียม (บ้านปลา) จากยางพาราและวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของฟาร์มไก่ไข่ ซึ่งมีข้อดีเรื่องของการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติและบางส่วนเป็นวัสดุที่เหลืองใช้จากฟาร์ม อีกทั้งคุณสมบัติของยางพารามีความคงทนและแข็งแรงมากกว่า 5 ปี และการนำยางพารามาใช้งานเป็นการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำ และสำคัญที่สุดคือซั้งเทียมไม่มีการปลดปล่อยสารเคมีออกสู่ทะเลและไม่มีปัญหาไมโครพลาสติก
ทีมงานบอกถึงบทเรียนจากการสร้างนวัตกรรมนี้เป็นผลจากการทำระบบการพัฒนานวัตกรรมซั้ง ทั้งด้านกระบวนการและด้านเทคโนโลยี ระบบการพัฒนานั้นประกอบไปด้วย 1) การเข้าใจปัญหา การทำซั้งรูปแบบเดิมที่มีอยู่ทั่วไป ทั้งแบบธรรมชาติและแบบเชือกพลาสติก นำไปสู่การระบุปัญหา 2) คิดค้นคำตอบ (solution) หลังจากที่เราเข้าใจปัญหาแล้ว พบว่ามีปัญหาหลักอยู่ 2 ประการคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจกล่าวคือ ชุมชนมีความจำเป็นที่จะต้องหาต้นทุน (มักเป็นจากหน่วยงานภายนอก) ในการสร้างซั้งทุกครั้งที่ต้องการ ทำให้ไม่สามารถทำการวางซั้งได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นอิสระพึ่งพาหน่วยงานภายนอกเสมอ และปัญหาอีกประการคือปัญหาด้านเทคโนโลยี คือวัสดุที่ใช้ในการสร้างซั้ง ทำให้อายุการใช้งานของซั้งมีระยะสั้น และมีโอกาสที่สร้างขยะทะเล และไมโครพลาสติกอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า การคิดค้นวิธีการคิดค้นกระบวนการใหม่ๆ นั้น ความมีส่วนร่วมและความคิดเห็นจากตัวชุมชนเองมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติ จะทราบดีถึงข้อจำกัดและโอกาสต่างๆ ได้ดี ในส่วนของการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ นั้น อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาส่วนผสมการขึ้นรูปวัสดุมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จำเป็นในการพัฒนา
สิ่งที่ทีมงานนี้ภูมิใจกับผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพราะผลงานนี้
ในด้านสังคม
1. กระบวนการอนุรักษ์รูปแบบใหม่ที่มีขายการผลผลิตที่ได้จากการอนุรักษ์ แล้วแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายในงานอนุรักษ์ต่อไป
2. มีกระบวนการเก็บข้อมูล และการวัดผล ร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ด้านเทคโนโลยี
1.นวัตกรรมชิ้นนี้ยังไม่เคยมีการคิดค้นหรือผลิตขึ้นมาใช้
2.นวัตกรรมชิ้นนี้ผลิตจากวัสดุดิบภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
3.นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยเหลือในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำ
4.นวัตกรรมชิ้นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะไมโครพลาสติก
5.นวัตกรรมชิ้นนี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
6.นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายของชาวประมง
7.นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
8.นวัตกรรมชิ้นนี้นำของเหลือใช้จากฟาร์มมาใช้ประโยชน์ช่วยลดขยะ
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนได้รับรางวัล “สถาบันเกษตรกรดีเด่นกลุ่มเกษตรกรทำการประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อันดับที่ 3 สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช” อีกทั้งยังสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชนยืดอายุการใช้งานของซั้งเทียมเพิ่มมูลค่าของเปลือกไข่จากฟาร์มในการผลิตซั้งต่อ 1 ชุมชน
ก็ต้องไปลุ้นกันว่าทีมงานนี้จะสามารถชนะใจกรรมการไปจนรอบชิงรางวัล Chairman Award หรือไม่