เป็นอย่างไรค่ะ กับผลงานนวัตกรรมด้านสังคมที่ส่งเข้ามาประกวดในมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 เข้มข้นขึ้น คราวนี้จะชวนเพื่อนๆชาวซีพีไปดูผลงานนวัตกรรมระบบพลังงานหมุนเวียนสำหรับนวัตกรรมระบบฟักและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มตัวที่มีไข่อยู่ภายนอกแบบอัตโนมัติ ผลงานของทีมงานฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯ เครือซีพี ที่มีการต่อยอดจากนวัตกรรมระบบฟักและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำฯแบบอัตโนมัติให้กับชุมชน แต่ระบบนี้มีอัตราการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเดือนละ 100 หน่วย คิดเป็นเงิน 450 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางกลุ่มชาวบ้านต้องรับผิดชอบ ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสนับสนุนระบบนวัตกรรมฯ โดยก่อนออกแบบระบบมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศเพื่อวัดค่าความเข้มแสงและความแรงลมในบริเวณนั้นว่าเหมาะสมหรือไม่
โดยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับระบบและกระแสไฟฟ้าที่เหลือถูกเก็บในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในช่วงที่ไม่มีแสง ผนวกกับระบบกังหันลมที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเก็บในแบตเตอรี่ชุดเดียวกัน โดยระบบกังหันลมสามารถผลิตกระแสไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมที่มีลมกรรโชกแรง นอกจากนี้ทางฝ่ายฯ ร่วมกับนักวิชาการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของพลังงานหมุนเวียน ข้อดีและข้อเสียของแต่ละระบบ รวมทั้งวิธีการติดตั้งและการซ่อมบำรุงรักษาระบบด้วยตัวเองให้กับชุมชน การติดตั้งพลังงานหมุนเวียนทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 100%และสามารถติดตามการผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านทางระบบแอพพลิเคชั่น การใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนนี้ยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 0.552 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้พลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดรวมกลุ่มและต่อยอดในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ไฟฟ้าในชุมชน เช่น การจัดประชุมชาวบ้าน การรวมกลุ่มของนักเรียนเพื่อศึกษาหาข้อมูลและทำการบ้าน
ความเป็นมาของความคิด
ทีมงานฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯเล่าว่าที่ผ่านมา ระบบนวัตกรรมระบบฟักและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มตัวที่มีไข่อยู่ภายนอกแบบอัตโนมัติต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อนระบบ ซึ่งระบบนวัตกรรมมีอัตราการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 100 หน่วย คิดเป็นเงิน 450 บาท โดยการใช้กระแสไฟฟ้าในแต่ละเดือนไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว การใช้กระแสไฟฟ้ายังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าปีละ 0.552 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด
ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสนับสนุนระบบนวัตกรรมเพื่อลดค่าไฟฟ้าที่ชาวบ้านต้องจ่าย โดยเบื้องต้นมีการศึกษาและวางแผนในการติดตั้งระบบในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ภาคใต้จะมีอยู่ 2 ฤดูกาล คือฤดูฝน (ช่วงเดือนต.ค. – ม.ค.) และฤดูแล้ง (ช่วงเดือนก.พ. – ก.ย.) การติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์เซลล์) ทำงานได้เต็มประสิทธภาพในช่วงที่มีแสงแดดของช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน ส่วนในช่วงเวลากลางคืนของช่วงเดือนดังกล่าวสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่มีการสะสมในแบตเตอรี่มาใช้ได้ แต่ในช่วงฤดูฝน (ระหว่างเดือนต.ค. – ม.ค.) พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกชุก และลมกรรโชกแรง ทำให้โซล่าร์เซลล์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น การติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมจึงเป็นทางเลือกที่ดีในช่วงดังกล่าว เพราะสามารถทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่มีลมพัด แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีฝนตกก็ตาม และระบบนี้ก็สามารถสะสมพลังงานที่เหลือใช้ในแบตเตอรี่ชุดเดียวกันกับโซล่าร์เซลล์ ทำให้ทั้งพลังงานโซล่าร์เซลล์และพลังงานลมทำงานเสริมกันและมีความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อที่จะสนับสนุนกระแสไฟฟ้าให้กับระบบฟักและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มตัวที่มีไข่อยู่ภายนอกแบบอัตโนมัติโดยที่ไม่เป็นภาระให้กับชุมชน
นอกจากนี้ ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ข้อดีและข้อเสียของแต่ละระบบ การคัดเลือกและวิเคราะห์ระบบที่เหมาะสมกับชุมชนนั้นๆ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการติดตั้งและการซ่อมบำรุงรักษาระบบพลังงานหมุนเวียนให้กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง
ระบบพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ผลิตกระแสไฟฟ้าสนับสนุนระบบนวัตกรรมฟักและและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มตัวที่มีไข่อยู่ภายนอกแบบอัตโนมัติ ซึ่งอาศัยเทคนิคดังต่อไปนี้ 1.เทคโนโลยีการนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซล่าร์เซลล์มาผลิตกระแสไฟฟ้า 2.เทคโนโลยีการนำพลังงานลมมาผลิตกระแสไฟฟ้า 3.เทคโนโลยีเก็บสะสมพลังงานจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ผลิตได้ในรูปแบบไฟกระแสตรงบรรจุในแบตเตอรี่ระบบอนุกรม 48 โวลต์ 4.เทคโนโลยีการแปลงพลังานไฟฟ้ากระแสตรง 48 โวลต์ เป็นกระแสไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ เพื่อใช้กับระบบนวัตกรรมฯ 5.การฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของพลังงานหมุนเวียนและการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสมให้กับชุมชน รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการติดตั้งและการซ่อมบำรุงรักษาระบบพลังงานทดแทนให้กับชาวบ้าน โดยองค์ประกอบในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อชุมชนอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน
เบื้องหลังการพัฒนา
ทีมงานนี้เล่าว่าการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ผลิตกระแสไฟฟ้าสนับสนุนระบบนวัตกรรมฟักและและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มตัวที่มีไข่อยู่ภายนอกแบบอัตโนมัติ แบ่งออกเป็นขั้นตอน 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ข้อดีและข้อเสียของแต่ละระบบ รวมถึงปัจจัยหรือข้อจำกัดของแต่ละระบบจากหลายแหล่งข้อมูล เช่น หน่วยงานวิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม 2. การคัดเลือกชุมชน คัดเลือกชุมชนที่มีการติดตั้งระบบนวัตกรรมฟักและคัดแยกตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มตัวที่มีไข่อยู่ภายนอกแบบอัตโนมัติอยู่แล้วและมีพื้นที่เหมาะสมในการทดลองติดตั้งทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
ตัวอย่างเช่น 2.1การเลือกพื้นที่ในการติดตั้งแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ ควรเป็นอาคารหรือพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ไม่มีต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างบดบังแสงที่จะส่องลงมายังแผ่นโซล่าร์เซลล์ 2.2 การเลือกพื้นที่ในการติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ควรติดบริเวณชายฝั่งทะเลที่ไม่มีต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างบดบังการได้รับลมในทิศทางลมหลักในช่วงลมมรสุม และ 5 3. การออกแบบชิ้นงาน ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯ นำข้อมูลอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของระบบนวัตกรรมมาการคำนวณ จำนวนแผงโซล่าร์เซลล์ ขนาดของกังหันลม ความจุแบตเตอรี่และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าที่เหมาะสมกับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ 4. ดำเนินการ ทดลองติดตั้งชิ้นงานในพื้นที่พร้อมทั้งมีการติดตามเก็บข้อมูลและปัญหาอย่างใกล้ชิดในระยะแรก เพื่อนำเอาปัญหาหรือความคิดเห็นที่ได้รับมาใช้ปรับปรุงผลงานต่อไป 5. จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของพลังงานหมุนเวียนและการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสมให้กับชุมชน รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการติดตั้งและการซ่อมบำรุงรักษาระบบพลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชน 6. การขยายผลและการพัฒนาต่อเนื่อง ภายหลังการปรับปรุงชิ้นงานหลังจากที่มีการทดลองในพื้นที่ต้นแบบแล้ว จากนั้นขยายการติดตั้งไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ช่วยชาวบ้านช่วยโลก
สำหรับคุณค่าของผลงาน ทีมงานบอกว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ลดค่าไฟฟ้าของชาวบ้านได้ 100% และนวัตกรรมชิ้นนี้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 0.552 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อพื้นที่ รวมทั้งนวัตกรรมชิ้นนี้มีการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องของพลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชนและเป็นแหล่งศึกษาดูงานของชุมชนได้ด้วย
ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า ผลงานนี้จะไปต่อในรอบลึกอีกหรือไม่