คณะกรรมการด้านการศึกษาของเมืองคุมาโมโต (Kumamoto) ประเทศญี่ปุ่นกำลังกังวลว่านักเรียนในระดับชั้นประถมและระดับมัธยมต้นเริ่มมีการเข้าเรียนในชั้นเรียนน้อยลง โดยนำข้อมูลทางสถิติของเด็กนักเรียนในช่วงวัยนี้มาเทียบกันระหว่างปี 2018 กับปี 2022 พบว่า มีนักเรียนที่ไม่มาเข้าเรียนในช่วงปี 2022 จำนวน 2,760 คน ซึ่งมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2018
คณะกรรมการจึงคิดว่า น่าจะนำ “หุ่นยนต์” มาแก้ปัญหาเด็กเข้าเรียนน้อย
หุ่นยนต์ดังกล่าวที่จะนำมาแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่เป็นสารวัตรนักเรียน แต่จะเอามาเข้าเรียนแทน โดยสภาเมืองได้จัดประชุมหารือเมื่อ 4 กันยายนที่ผ่านมาและมีข้อเสนอว่า จะนำหุ่นยนต์เข้ามาจัดวางไว้ในห้องเรียน และให้นักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนสามารถควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกลได้
หุ่นยนต์จะติดอุปกรณ์หลายอย่าง อาทิ กล้อง ไมโครโฟน ลำโพง โดยนักเรียนควบคุมหุ่นยนต์จากทางบ้านได้ พวกเขาจะสามารถดูและได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนได้ และยังร่วมกิจกรรมที่เกิดในห้องเรียนด้วยการพูดคุยกับนักเรียนคนอื่นๆ ในห้องได้ด้วย
หุ่นยนต์จะมีความสูงขนาด 1 เมตร เคลื่อนที่ได้ และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนได้ด้วย โครงการดังกล่าวนี้ก็เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ เพราะมีความเครียด ความกังวล หรือมีประเด็นด้านสังคมอื่นๆ ทั้งทางจิตวิทยาหรือทางอารมณ์ สามารถเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์กับสังคมและเข้าเรียนในห้องเรียนได้ในที่สุด
ด้านโฆษกของคณะกรรมการฯ ก็เห็นว่า เคยมีกรณีที่นักเรียนมีปัญหาในการสื่อสารมาบ้างแล้ว หุ่นยนต์ที่นำมาใช้นี้จะช่วยปูทางให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้บ้าง ซึ่งทางบอร์ดก็หวังว่าจะสามารถพัฒนาจนทำให้เด็กๆ สามารถเข้าเรียนได้ในอนาคต โดยข้อเสนอที่จะให้หุ่นยนต์เข้ามาเรียนแทนเด็กนี้ ก็มาพร้อมๆ กับข้อเสนอเรื่องห้องเรียนเสมือนจริง (virtual classroom) ที่ทางบอร์ดเสนอมาตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา เป็นการนำเสนอบทเรียนผ่านการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับนักเรียนที่ไม่เข้าเรียนในห้องเรียน
ทางคณะกรรมการเองก็ไม่ได้บังคับให้เด็กที่ไม่เข้าเรียนในห้องเรียนต้องใช้หุ่นยนต์ถ้าพวกเขาไม่ต้องการ โครงการนี้จะเริ่มในระดับเล็กๆ ก่อน ซึ่งเมืองคุมาโมโตก็มีประชากรราว 735,000 คน แต่ก็วางแผนไว้ว่าน่าจะเริ่มใช้หุ่นยนต์เพียง 2 ตัว ก่อนจะส่งไปยังโรงเรียนอื่นๆ ที่ต้องการใช้บ้าง ถ้าข้อเสนอนี้ผ่าน หุ่นยนต์ก็จะถูกนำมาใช้งานได้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจึงจะตัดสินใจอีกทีหลังช่วงจบปีการศึกษาราวๆ เดือนมีนาคมว่า จะนำหุ่นยนต์มาใช้งานต่อหรือจะขยายโครงการต่อไปอย่างไรในอนาคต
ที่มา – Brand Inside