วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือโต 2.6% ส่งออกฟื้นช้า บริโภค-ลงทุนภาครัฐต่ำกว่าคาด

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม ตามการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 จะเติบโตได้ 3.6% จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าเติบโตได้ 1.6% ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 67 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 2.6%”

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น จากปัจจัยฐานต่ำในปี 66 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลก รวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง มีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 การส่งออกของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 2.0% จากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัวในปีนี้ไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยว่า ได้ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัย ที่จะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในช่วงข้างหน้า ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2. สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบกับสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์ และเหล็ก 3. ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้า และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

ขณะที่ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น แต่ก็มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้

ขณะที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า เช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถปรับทิศทางได้อย่างทันท่วงที

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์