ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2565 จะยังเผชิญแรงกดดันภายนอกจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความเสี่ยงภายในประเทศที่ยังรุมเร้าจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันจีนยังต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจลากยาว รวมถึงประเด็นด้านการยกระดับกฎหมายเข้าควบคุมเศรษฐกิจ (Regulatory Crackdown) ที่น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาด และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวคิดเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)
อย่างไรก็ดี ในปี 2565 นี้เชื่อว่าทางการจีนจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้ที่ราว 5% ผ่านการเริ่มเห็นแนวทางการผ่อนคลายทั้งด้านนโยบายทางการเงินและการคลังของจีนในเชิงรุกมากขึ้น โดยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของจีนระบุถึงการดำเนินนโยบายการคลังปี 2565 ว่าจะมีการออกมาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมอีกครั้งเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจ พร้อมเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อม เพื่อสร้างตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศให้สมบูรณ์
ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็ส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการเริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างผ่อนคลาย ซึ่งเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปจากต้นปี 2564 ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง โดยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา PBOC ได้ประกาศปรับลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในอัตรา 0.5% สำหรับสถาบันทางการเงิน ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่สอง รวมถึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) สำหรับการกู้ 1 ปีลง 0.05% ลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ย LPR ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่เมษายน 2563 (ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า PBOC ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปีลง 0.1% สู่ระดับ 2.85%)
ทั้งนี้ มองว่าทางการจีนยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อเร่งตัวทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ที่ 5% (กรอบคาดการณ์ 4.8-5.4%)
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีนใน 2564 ขยายตัวได้ที่ 8.1% สูงกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 6% โดยในไตรมาส 4/2564 เศรษฐกิจเติบโตที่ 4% นับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยการชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 นี้เป็นผลจากการเผชิญกับประเด็นหนี้และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์จากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid-Zero) และราคาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
ที่มา The Standard